รมช.เกษตรฯ มนัญญา ตรวจเยี่ยมสหกรณ์การเกษตรเกาะช้าง หนุนการทำกะปิเกาะช้าง สร้างรายได้ให้สมาชิก

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสหกรณ์การเกษตรเกาะช้าง ต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด โดยมี นายกัฬชัย เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ นางสาวอัญชนา ขุนสนธิ ประธานสหกรณ์การเกษตรเกาะช้าง ตลอดจนสมาชิกสหกรณ์ เกษตรกร เข้าร่วม

 

318452811 586485596816353 4150112307688509058 n
หนุนการทำกะปิเกาะช้าง

ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรเกาะช้าง จำกัด ได้ดำเนินการผลิตกะปิและจัดซื้อกะปิจากสมาชิกไปจำหน่าย โดยกะปิเกาะช้างมีเอกลักษณ์คือ มีกลิ่นหอม รสชาติดี สะอาด ไร้สารปนเปื้อน อีกทั้งสภาพภูมิประเทศของเกาะช้างที่เป็นหาดทราย มีน้ำทะเลที่ใส แตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ทำให้กะปิเกาะช้างมีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของคุณภาพ และมีรสชาติที่อร่อยเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมให้การสนับสนุนสมาชิกสหกรณ์เพื่อให้สมาชิกเกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์ สร้างความเข้มแข็ง ยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โอกาสนี้ รมช.มนัญญา ยังได้เยี่ยมชมการสาธิตทำกะปิเกาะช้าง และผลิตภัณฑ์แปรรูปของสหกรณ์อีกด้วย

สำหรับสหกรณ์การเกษตรเกาะช้าง จำกัด ปัจจุบัน มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 208 คน มีทรัพย์สินรวม 3,372,711.86 บาท มีรายได้รวมทั้งสิ้น 341,899.86 บาท มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 214,716.49 บาท ผลการดำเนินงานมีกำไรสุทธิ 127,183.29 บาท ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ตามกำหนดร้อยละ 84.79 ของหนี้ที่ถึงกำหนดชำระ สหกรณ์อยู่ในเกณฑ์ที่ดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กะปิ เป็นอาหารที่ได้จากกระบวนการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง จะพบมากในแถบจังหวัดที่ติดทะเล เช่น ระยอง ระนอง รวมถึงจังหวัดตราดด้วย กะปิที่ผลิตออกมาจากแต่ละแหล่งจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของรสชาติ สี และกลิ่น เนื่องจากวัตถุดิบที่นำมาใช้จะแตกต่างกัน สำหรับกะปิที่ขึ้นชื่อในจังหวัดตราดคือ “กะปิเกาะช้าง”

กะปิเกาะช้าง เป็นที่ยอมรับกันมานานว่า มีคุณภาพดีแห่งหนึ่งของประเทศไทย อย่างที่ทราบกันว่าการทำกะปิต้องใช้ “เคย” ซึ่งเป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในทะเล กล่าวกันว่าเกาะช้างของจังหวัดตราดมีสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะกับการเติบโตของ “เคย” ทำให้ “เคย” ที่ชาวบ้านนำมาใช้ทำกะปิมีคุณภาพดี สีเคยจะสวย สะอาด ปราศจากสิ่งเจือปนและเป็นเคยตัวใหญ่ หนวดยาว ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “เคยน้ำลึก”หรือ “เคยตาดำ” เมื่อนำมาทำกะปิจะได้กะปิมีสีสวย คือ สีแดงอมม่วงน่ารับประทาน มีกลิ่นหอม นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในแถบจังหวัดตราดจึงมักจะมีกะปิเกาะช้างติดไม้ติดมือกลับไปด้วยเสมอ

ความสัมพันธ์กับชุมชน

ผลิตภัณฑ์ใช้วัตถุดิบภายในชุมชน ใช้แรงงานในชุมชน ผลิตโดยคนในชุมชน ด้วยวิธีการที่เป็นภูมิปัญญาภายในชุมชนเอง รวมถึง”น้ำเคย” ที่เหลือจากการหมักจะนำไปทำเป็นปุ๋ยชีวภาพหรือนำไปเคี่ยวจนหอมบรรจุขวดขายอีกทีหนึ่ง เศษที่เหลือจากการทำความสะอาดเป็นปุ๋ยอย่างดีสำหรับพืช ต้นไม้ ทำให้เจริญงอกงามดีมาก

กระบวนการผลิต วัตถุดิบและส่วนประกอบ

๑) วัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิต

1.1 เคยสด

1.2 เกลือ

๒) อุปกรณ์

2.1 ถังสำหรับหมักเคย

2.2 ครกขนาดใหญ่ หรือเครื่องโม่

2.3 กล่องพลาสติกสำหรับใส่กะปิ หรือ โหลแก้ว

ขั้นตอนการผลิตกะปิ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักเคย หรือกุ้งกับเกลือในอัตราส่วนที่เหมาะสม สีของกะปิที่เป็นสีธรรมชาติของกะปิ เช่น สีเทาอมชมพู สีม่วงเทา สีม่วงแดง สีน้ำตาลอมแดง ซึ่งเป็นสีของกุ้งเคยชนิดนั้น ๆ กลิ่นที่ได้จะหอมหวาน ไม่มีกลิ่นคาว กลิ่นฉุน รสชาติจะกลมกล่อมไม่เค็มเกินไป ซึ่งมีขั้นตอนวิธีการผลิต ดังนี้

๑) นำเคยสดที่ล้างทำความสะอาดแล้ว จำนวน 100 กิโลกรัม ต่อเกลือ 12 กิโลกรัม

๒) ผสมเกลือและเคยให้เข้ากัน ทิ้งไว้ 1 คืน

๓) นำมาตากแห้งด้วยแสงแดดตามที่ต้องการ ซึ่งอยู่ที่ความชำนาญโดยไม่มีเครื่องมือวัดความแห้ง

๔) นำเคยแห้งที่ตากแดดมาโม่หรือตำให้ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน อาจโม่หยาบบ้าง ละเอียดบ้างตามที่ลูกค้าต้องการ การตำจะมีสีสวยกว่าการโม่บดด้วยเครื่อง

๕) อัดลงถังให้แน่น ใช้ถุงพลาสติกปิดหน้า โรยปิดทับด้วยเกลืออีกครั้งหนึ่ง ทิ้งไว้นานอีก 6 เดือน เพื่อให้เกิดความหอมตามมาตรฐาน

๖) จัดจำหน่ายโดยบรรจุในกล่องพลาสติกหรือโหลแก้ว ตามปริมาณ

๗) ติดป้าย โดยติดให้ถูกต้องและวางในมุมที่เหมาะสม

เทคนิค/เคล็ดลับในการผลิต

๑) ต้องมีความละเอียดและสะอาดในการผลิต และตรวจสอบคุณภาพของกะปิ คือ เนื้อเหนียวเป็นเนื้อเดียวกัน สีแดงสวย กลิ่นหอมหวาน ไม่มีกลิ่นฉุน ไม่มีสิ่งแปลกปลอมเจือปน

๒) คุณภาพของกะปิเนื้อแน่น สะอาด ราดหน้ากะปิด้วยเทียน กล่องบรรจุไม่ชำรุด ปิดฝาได้สนิท

๓) เคยจะต้องใช้เคยชนิดเดียวกัน เพราะถ้าใช้หลายชนิดรวมกันแล้วจะทำให้กะปิมีคุณภาพต่ำลง

๔) อัตราส่วนของเคยและเกลือต้องพอดีไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป