แนะเกษตรกรผู้ปลูกองุ่นให้เฝ้าสังเกตอาการระบาดของโรคราน้ำค้าง มักพบในระยะใบอ่อนเปลี่ยนเป็นใบแก่ อาการที่ใบ เนื้อเยื่อบนใบเกิดแผลสีเหลืองอ่อน หากสภาพอากาศในตอนเช้ามีความชื้นสูง ที่ใต้ใบด้านตรงข้ามแผลจะพบเชื้อราสาเหตุโรคสีขาวขึ้นฟู ต่อมาแผลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ถ้าโรคระบาดรุนแรง ก้านใบมีแผลช้ำ ใบจะเหลือง แห้ง และหลุดร่วง อาการที่ยอด เถาอ่อน และมือเกาะ มักพบเชื้อราสีขาวขึ้นฟูเป็นกลุ่มปกคลุม ยอดหดสั้น เถาและมือเกาะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้ง อาการที่ช่อดอกและผลอ่อน จะพบเชื้อราสีขาวขึ้นฟูปกคลุม ทำให้ดอกร่วง ช่อดอกเน่า และผลอ่อนร่วง
หากพบโรคเริ่มระบาดให้เกษตรกรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก และให้เก็บส่วนที่เป็นโรคออกจากแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค หลีกเลี่ยงการตัดแต่งกิ่งในช่วงฤดูหนาวที่สภาพอากาศมีความชื้นสูง หรือช่วงที่ฝนตกชุก เพราะโรคจะระบาดรวดเร็วและรุนแรง อีกทั้งไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีค่าไนโตรเจนสูงเกินไป เพราะจะทำให้พืชอ่อนแอต่อการเกิดโรค
กรณีพบโรคเริ่มระบาดให้เกษตรกรตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคนำออกไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้นให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตรหรือสารแมนโคเซบ+เมทาแลกซิล–เอ็ม 64%+4% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไอโพรวาลิคาร์บ+โพรพิเนบ 5.5%+61.3% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นทุก 5–7 วัน
แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้น จึงมักพบโรคและแมลงศัตรูที่สำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับองุ่น หลายโรค คือนอกจากโรคราน้ำค้าง แล้วยังมีโรคราแป้ง โรคเน่าดำ โรคแอนแทรคโนส เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง และหนอนกระทู้
โรคราแป้ง
ลักษณะอาการ เป็นขุยแป้งขี้เถาสีขาว เกิดบนใบ กิ่ง และผล ระบาดในช่วงปลายฤดูฝน-ฤดูหนาว
การป้องกันกำจัด
1. หมั่นตรวจสอบแปลงและป้องกันกำจัดตั้งแต่เริ่มพบโรค
2. กำจัดวัชพืชในโรงเรือนและรอบโรงเรือน
3. การใช้สารปลอดภัย
– ซิลิกอน อัตรา 140 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน ในระยะหลังดอกบาน-ผลเริ่มเปลี่ยนสีเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับเซลล์พืช
– ปิโตรเลียมออยล์ อัตรา 40 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ร่วมกับ ผงฟู อัตรา 150 กรัม/น้ำ 20 ลิตร (ผสมกันได้) ทุก 7 วัน ในระยะก่อนเก็บเกี่ยว
4. การใช้สารเคมี ควรสลับใช้สารเคมีที่มีสารออกฤทธิ์คนละชนิดกัน และอัตราที่ใช้ตามฉลาก
– กำมะถัน (ห้ามผสมกับปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์และพ่นใน) เช่น คูมูลัสดีเอฟ ไมโครไธออลกำมะถันทอง
– ครีซอกซิม-เมทิล เช่น โซซิม 50 สโตรบี้ แคนดิต
– ไมโครบิวทานิล เช่น ซีสแทน-อี
– ไตรดีมอร์ฟ เช่น คาลิกซิน
โรคเน่าดำ
ใบเป็นรูจุดไหม้สีน้ำตาลแดง ตรงกลางแผลมีสีน้ำตาลอ่อน ขอบแผลมีสีน้ำตาลเข้ม กิ่งจะมีลักษณะปื้นดำเป็นแถบ เนื้อเยื่อบริเวณแผลยุบตัวลงแต่ไม่ลึก มีสีเทา บริเวณแผล มีเม็ดเล็ก ๆ สีดำ ผลอ่อนเป็นจุดแผลฉ่ำน้ำสีน้ำตาลเนื้อเยื่อบริเวณแผลยุบตัวลง การระบาด ระบาดในสภาพอากาศเย็นและชื้น
การป้องกันกำจัด
1. หมั่นตรวจสอบแปลงและป้องกันกำจัดตั้งแต่เริ่มพบโรค
2. กำจัดวัชพืชในโรงเรือนและรอบโรงเรือน
3. งดให้น้ำในช่วงเย็น
4. การใช้สารปลอดภัย
– ชีวภัณฑ์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มา เช่น พีพี-ไตรโค อัตรา 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ทุก 5 วัน (ควรฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็นและหลีกเลี่ยงช่วงที่มีแสงแดดจัด)
– ชีวภัณฑ์ของเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทีลิส/ อะไมโลลิควิเฟเซียนส์ เช่น พีพี-บีเค 33 อัตรา 100 กรัม/ 20 ลิตร ทุก 5 วัน
5. การใช้สารเคมี ควรสลับใช้สารเคมีที่มีสารออกฤทธิ์คนละชนิดกัน และอัตราที่ใช้ตามฉลาก
– โพรพิเนบ เช่น แอนทราโคล เอราแทร็ค
– แมนโคเซบ เช่น แมนโคเซบ ไดเทนเอ็ม-45 แมนเซทดี เพนโคเซบ
– ไดฟีโนโคนาโซล เช่น สกอร์
– ไมโครบิวทานิล เช่น ซีสแทน-อี
– อะซอกซีสโตรบิน เช่น อะมิสตา ลูมินัส
โรคเพลี้ยไฟ
การเข้าทำลาย : ดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อผลอ่อน
ลักษณะอาการ : เกิดแผลสีน้ำตาลบริเวณยอดอ่อนและใบ คล้ายกับอาการไหม้ ระยะผลอ่อนมีลักษณะเป็นสะเก็ดแผลตามผิวผล หากเพลี้ยไฟเข้าทำลายตั้งแต่ระยะแตกตา-แตกยอดอ่อน ส่งผลให้ต้นองุ่นชะงักการเจริญเติบโต ยอดแคระแกร็น
การระบาด : ระบาดสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง
การป้องกันกำจัด :
1. หมั่นตรวจสอบแปลงและป้องกันกำจัดตั้งแต่เริ่มพบเพลี้ยไฟ โดยเฉพาะช่วงแตกใบอ่อนและติดผลอ่อน
2. กำจัดวัชพืชในโรงเรือนและรอบโรงเรือน
3. การใช้สารปลอดภัย
– ใช้จุลินทรีย์ บิวเวอร์เรีย, พาซิโลมัยซิส เชื้อรา 5 พิฆาต ฉีดพ่นช่วงเย็นทุก ๆ 3 – 5 วันหลังพบการระบาด (ควรฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็นและหลีกเลี่ยงช่วงที่มีแสงแดดจัด)
– ใช้น้ำสบู่อ่อน อัตรา 300 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ทุก 3 วัน
– ปิโตรเลียมออยล์ อัตรา 40 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน
4.การใช้สารเคมี ควรสลับใช้สารเคมีที่มีสารออกฤทธิ์คนละชนิดกัน และอัตราที่ใช้ตามฉลาก
– อิมิดาคลอพริด เช่น อิมิดาคลอพริด โปรวาโด
– ฟิโปรนิล เช่น แอสเซนด์ มอร์เก็น เลอแซ็ค
– อะเซทามิพริด เช่น โมแลน (ไม่ควรผสมกับอิมิดาคลอพริดเพราะเป็นยากลุ่มเดียวกัน)
– สไปนีโทแรม เช่น เอ็กซอล