จ.กาฬสินธุ์หนุนเกษตรกรปลูกกระท่อมแก้จนทุกครัวเรือน มุ่งลดคนจน เพิ่ม GPP จังหวัดภายใน 2 ปี พร้อมสร้างโรงงานแปรรูปกระท่อมต้นแบบแห่งแรกของประเทศ
วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมฟ้าแดดสงยาง ชั้น ๒ ศาลากลางจังหวัด นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมชี้แจงโครงการปลูกกระท่อมแก้จนเพื่อคนกาฬสินธุ์ และพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU) การพัฒนาจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นศูนย์กลางเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูปพืชกระท่อมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีนายวิเศษ คำไชโย ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์กล่าวรายงาน และ นส.วิยะดา พลประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริษัทไร่เพชรตะวัน จำกัด รายงานความพร้อมการก่อสร้างโรงงานฯรับซื้อใบกระท่อมจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้แทนหน่วยงานราชการทุกภาคส่วนร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน โดยผู้แทนเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์พร้อมสมัครร่วมโครงการปลูกกระท่อมทุกครัวเรือนๆละ 200 ต้น เพื่อส่งขายให้กับโรงงานฯที่จะเริ่มเปิดดำเนินการในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ที่จะถึงนี้
ดร.นิรุจน์ อุทธา กล่าวว่า ตามที่สภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ประกาศนโยบายสาธารณะ วาระกาฬสินธุ์เมืองสีเขียวอัจฉริยะ หรือ Kalasin Smart Green City กำหนดวิสัยทัศน์ว่า กาฬสินธุ์เป็นศูนย์กลางแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นเมืองเกษตรอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต้นแบบของประเทศ ภายในปี ๒๕๖๗ ขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดด้วยกลยุทธ์เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ด้วยกลไก 3 ห่วง 3 เงื่อนไข 3 ห่วง ประกอบด้วย ขับเคลื่อนเมืองเกษตรอินทรีย์ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมการเกษตร และส่งเสริมพืชเศรษฐกิจทางเลือกและสมุนไพรต้านภัยโควิด 3 เงื่อนไข ประกอบด้วย ตลาดนำผลิต เกษตรอุตสาหกรรม และเกษตรอัจฉริยะ มีพันธกิจ 14 ประการเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะพันธกิจข้อ 10 เป็นการส่งเสริมวิจัยพัฒนากระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกจังหวัดกาฬสินธุ์ เป้าหมายคือ ขับเคลื่อนจังหวัดกาฬสินธุ์เป็นศูนย์กลางการผลิตกระท่อมเชิงพาณิชย์ ด้วยกลไกตลาดนำผลิต ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำหนดตัวชี้วัดคือ มีโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปพืชกระท่อม รับซื้อใบกระท่อมให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 1 แห่ง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อปี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ภายในปี 2567
ด้วยพลังการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกจังหวัดกาฬสินธุ์ดังกล่าว ได้รับความร่วมมืออย่างมาก จากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ทำให้บริษัท ไอรดากรุ๊ป เฮลท์แคร์คอสเมติก จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและสมุนไพร และ บริษัท ไร่เพชรตะวัน จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการปลูกกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจ ได้ให้การสนับสนุน ลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปพืชกระท่อมในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 1 แห่ง รองรับนโยบายดังกล่าว เป็นจุดรับซื้อใบกระท่อมให้กับเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันโรงานดังกล่าวได้รับอนุมัติจาก อย.เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 1 ปีของการปลดล็อกกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด
ถือเป็นโรงงานอุตสาหกรรม Green Factory พืชกระท่อมแห่งแรกของประเทศ และเป็นการพัฒนากลไกตลาดนำผลิตพืชกระท่อมอย่างเป็นรูปธรรม บรรลุเป้าหมายการพัฒนาตามวิสัยทัศน์กาฬสินธุ์เมืองสีเขียวอัจฉริยะ Kalasin Smart Green City เพื่อให้กลไกตลาดนำผลิต สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรตามตัวชี้วัด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ภายในปี 2567
อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ แบบ BCG และ Green Economy เพิ่มป่าไม้ยืนต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์อย่างเป็นรูปธรรม สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ จึงได้ร่วมมือกับ บริษัทไร่เพชรตะวันจำกัด จัดทำโครงการ พัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวชุมชนแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนจังหวัดกาฬสินธุ์ หรือโครงการกระท่อมแก้จนเพื่อคนกาฬสินธุ์ขึ้น
สาระสำคัญเพื่อสนับสนุนต้นกล้ากระท่อมให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ รวมถึง คนยากจน สมาชิกวิสาหกิจชุมชน สมาชิกสหกรณ์การเกษตร สมาชิกโคกหนองนาโมเดล ตลอดจนคนด้อยโอกาส ทุกครัวเรือน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป้าหมาย ครอบครัวละ 200 ต้น ปลูกในพื้นที่ 2 ไร่ ด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ แล้วทำสัญญาร่วมกับบริษัทฯ ส่งขายใบให้โรงงานฯ ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท เป็นเวลา 10 ปี หากหมดสัญญาจะต่ออายุหรือไม่ก็ได้ ให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ
ซึ่งโครงการฯนี้ เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อแก้จนให้คนกาฬสินธุ์โดยเฉพาะ ถือเป็น Kalasin Model จังหวัดแรกและแห่งเดียวของประเทศ มีตัวชี้วัดแก้ปัญหาความยากจนให้คนกาฬสินธุ์ และเพิ่มรายได้มวลรวมภาคการเกษตรของจังหวัดให้มากกว่า 73,000 บาทต่อปี ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ภายใน 2 ปี หรือภายในปี 2567 ที่จะถึงนี้ ดร.นิรุจน์กล่าว
โอกาสนี้ นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมผู้แทนหน่วยงานราชการ ได้ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานความร่วมมือพัฒนาจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นเมืองเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูปพืชกระท่อมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต้นแบบของประเทศ อีกด้วย