หลังการส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ขณะนี้ซึ่งเป็นฤดูกาลทุเรียนจากภาคใต้ส่งไปขาย ปรากฏว่า ปลายทางเริ่มติงเรื่องคุณภาพทุเรียนที่ส่งไป กระทั่งผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกติกา เริ่มถามกันในวงกว้าง เรื่องการควบคุมคุณภาพทุเรียนส่งออก มีการตรวจสอบ เข้มงวดอย่างไร และทำเหมือนภาคตะวันออก ที่ สวพ.6 และทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย ดำเนินการอยู่หรือไม่ เนื่องจากการทำงานที่ผ่านมาการตรวจสอบเข้มข้น ตลาดปลายทางชื่นชอบ และทำให้ราคาขายไม่ตกเลย
แต่ล่าสุดปรากฏว่า ในกลุ่มชาวสวน และผู้ประกอบการ สมาคมทุเรียนใต้ ได้มีการเรื่องนี้กันอย่างมาก มีการถกเถียงเรื่องข้อมูลกันในไลน์กลุ่มอย่างกว้างขวาง บางรายนำคลิปข่าวของบางสำนักมาโพสต์ และตั้งคำถามเรื่องการตรวจสอบคุณภาพ ว่า ดำเนินการอย่างไร
มีผู้อยู่ในกลุ่มไลน์คนหนึ่งตั้งคำถามว่า สวพ.6 และสวพ.7 เป็นองค์กรของรัฐที่ไม่จำเป็นต้องทำในมาตรฐานเดียวกันหรือ ทุเรียนภาคตะวันออกและภาคใต้ต่างกันอย่างไร ขบวนการแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนทุเรียนด้อยคุณภาพที่สร้างภาพพจน์ให้เสื่อมเสียอยู่กับวงการทุเรียนไทยปัจจุบันนี้เวลานี้ ถึงยังมีอยู่
แต่กลับมีผู้ที่อยู่ในสมาคมฯ เข้าไปตอบข้อสงสัย ว่า ภาคใต้กับภาคตะวันออกทุเรียนไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ เจ้าหน้าที่ทุกคนก็ทำงานกันเต็มที่มิได้หยุดหย่อนเรื่องทุเรียนอ่อน แต่มีใบสั่งจากเบื้องบนของผู้มีอำนาจ คอยจะทำลาย ทุเรียนไทยหรือสวมสิทธิ์เพื่อหาประโยชน์เข้าตัวเองและพวกพ้อง ถ้ายังทำกันอยู่แบบนี้อีก 100 ปีก็แก้ไม่หายเรื่อง
ทุเรียนอ่อน คนที่รับชะตากรรม คือชาวสวน ที่จะลืมตาอ้าปากได้บ้าง กลับโดนเหยียบย่ำ เพราะหน่วยงานภาครัฐเพิกเฉยไม่ได้แก้ปัญหาจริงจัง
ทำให้เกิดการตั้งคำถามจากชาวสวนว่า ใคร คือ ผู้มีอำนาจ ถึงกล้าสั่งเจ้าหน้าที่ ทั้งที่เป็นผลประโยชน์ของเกษตรกรโดยตรง เป็นรายได้เข้าประเทศ และหน้าตาของประเทศไทย เรื่องการส่งออกทุเรียน แต่กลับมีขบวนการนี้หากินบนคงามเดือดร้อนชาวสวนอยู่
มีรายงานว่า ผู้ประกอบการที่ทำถูกกติกา เริ่มคุยเป็นวงกว้างเรื่องพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ ที่หากินกับวงการทุเรียนมานานและมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ไม่ได้คำนึงถึงชีวิตเกษตรกร ซึ่งทุกคนต่างรู้ดีว่า “ผู้มีอำนาจ” ที่คอยสั่งการอยู่เบื้องหลังคนนี้ คือ”ใคร”