ส่งออกต.ค.65 มีมูลค่า 21,772.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.4% พลิกติดลบครั้งแรกในรอบ 20 เดือน แต่ยอดรวม 10 เดือน ยังขยายตัวได้ดี มีมูลค่า 243,138.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.1% คิดเป็นเงินบาทกว่า 8.3 ล้านล้านบาท คาดทั้งปี โตเกินเป้าเกือบหนึ่งเท่าตัว และมูลค่าทั้งปีทะลุ 9 ล้านล้านบาทแน่
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนต.ค.2565 มีมูลค่า 21,772.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.4% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 801,273 ล้านบาท ส่วนยอดรวม 10 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 243,138.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.1% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 8,325,091 ล้านบาท โดยคาดว่าภาพรวมการส่งออกปี 2565 ยังเป็นบวก จากการประมาณการร่วมกับภาคเอกชนล่าสุดยังมั่นใจว่าเกินเป้าที่กำหนดไว้ 4% จะเพิ่มเกือบหนึ่งเท่าตัว ส่วนมูลค่าตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 9 ล้านล้านบาท มีแนวโน้มจะเกินกว่า 9 ล้านล้านบาท และจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปี 2565
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกในเดือนต.ค.2565 ติดลบ มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่น่าเป็นห่วง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และเอกชนเห็นตรงกันจากนี้ไป ต้องฝ่าฟันเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเศรษฐกิจโลกปี 2564 เพิ่ม 6% ปี 2565 เพิ่ม 3.2% และปี 2566 เพิ่ม 2.7% ตลาดจีนยังมีมาตรการซีโร่โควิด-19 ดัชนีการผลิต หรือ PMI ของคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป ลดลง แต่ก็มีปัจจัยบวกจากเงินบาทที่ยังอ่อนค่า ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ดีขึ้น ตลาดใหม่ขยายตัวได้ดี เช่น ซาอุดิอาระเบีย รวมถึงตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร
“ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหารือเตรียมการรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ต้องทำการบ้านลึกในรายละเอียด เช่น หาตลาดใหม่ทดแทนการส่งออกในบางตลาด อย่างเคมีภัณฑ์กับเม็ดพลาสติก มีมูลค่าถึง 6.62% ของตัวเลขการส่งออกทั้งหมด ตลาดที่เตรียมการไว้ในการเร่งยอดส่งออก คือ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ เป็นต้น หรือการเร่งรัดการส่งออกข้าว ที่อินเดียเริ่มขึ้นภาษีส่งออก ก็จะเป็นโอกาสให้ไทยหาตลาดทดแทนอินเดีย ทั้งอินโดนีเซีย แอฟริกา หรืออื่น ๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยางพารา ที่ต้องเพิ่มมูลค่าการผลิต ส่งเสริมแปรรูปทำยางล้อ และจะนำคณะร่วมงานยานยนต์ระดับโลก และจับมือกับเอกชนเดินหน้าต่อไป”นายจุรินทร์กล่าว
ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนต.ค.2565 สินค้าเกษตร ลด 4.3% สินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น ยางพารา ผลไม้สด แต่ตัวอื่นเพิ่มขึ้นหมด ทั้งไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทุเรียนแช่แข็ง กล้วยไม้ และข้าว เป็นต้น สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ลด 2.3% สินค้าสำคัญที่ลด เช่น ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ส่วนเครื่องดื่ม ไอศกรีม อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ยังคงเพิ่มขึ้น และสินค้าอุตสาหกรรม ลด 3.5% สินค้าสำคัญที่ลด เช่น สินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ตามน้ำมันโลกที่อ่อนตัว เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ลดจากการขาดแคลนชิป และเหล็ก ลดตามราคาตลาดโลก ส่วนเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับตลาดส่งออกที่ขยายตัว 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 103.5% 2.ซาอุดิอาระเบีย เพิ่ม 49.6% 3.สปป.ลาว เพิ่ม 28.8% 4.ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 18.8% 5.เวียดนาม เพิ่ม 13.3% 6.ไต้หวัน เพิ่ม 6.3% 7.กัมพูชา เพิ่ม 5.2% 8.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 4.1% 9.สหราชอาณาจักร เพิ่ม 3.7% และ 10.เม็กซิโก เพิ่ม 1.1%
ส่วนการค้าชายแดนและผ่านแดนเดือน ต.ค.2565 การส่งออกมีมูลค่า 81,937 ล้านบาท ลดลง 0.2% และ 10 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 855,839 ล้านบาท ลดลง 0.7% และหากแยกเป็นการส่งออกชายแดนเดือน ต.ค.2565 มีมูลค่า 54,643 ล้านบาท เพิ่ม 4.5% รวม 10 เดือน มูลค่า 544,583 ล้านบาท เพิ่ม 17.6% และการค้าผ่านแดน มีมูลค่า 27,293 ล้านบาท ลดลง 8.4% รวม 10 เดือน มูลค่า 311,256 ล้านบาท ลดลง 21.9% เพราะหันไปส่งออกทางเรือและทางอากาศมากขึ้น แต่ยังจะเดินหน้าผลักดันการค้าชายแดนต่อไป โดยจะเร่งรัดการเปิดด่านเพิ่ม ซึ่งปัจจุบันเปิดแล้ว 63 ด่านจาก 97 ด่าน และคาดว่าการส่งออกชายแดนทั้งปีจะเกินเป้าที่ตั้งไว้ที่ 5% เพราะ 10 เดือนทำได้แล้ว 17.6%
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า การส่งออกในเดือนต.ค.2565 ที่กลับมาติดลบ 4.4% ถือเป็นการกลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือนนับจากก.พ.2564 ส่วนการนำเข้าต.ค.2565 มีมูลค่า 22,368.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.1% ขาดดุลการค้า 596.4 ล้านเหรียญสหรัฐ รวม 10 เดือน นำเข้ามูลค่า 258,719.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.3% ขาดดุลการค้า 15,581.3 ล้านเหรียญสหรัฐ