นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง (1 พฤศจิกายน – 30 เมษายน) พบว่า ปีนี้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำมีปริมาณมาก จึงวางแผนการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืนโดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำทุกกิจกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมการวางแผน และติดตามการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร โดยมีนายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม แทนปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีมติเห็นชอบแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2565/66 ซึ่งกำหนดให้บริหารจัดการตามปริมาณน้ำต้นทุนและความเหมาะสมของพื้นที่ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่
1) เพื่อการอุปโภคบริโภคและการประปา
2) เพื่อการรักษาระบบนิเวศทางน้ำ เช่น การผลักดันน้ำเค็ม การขับไล่น้ำเสีย
3) เพื่อสำรองน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝน
4) เพื่อการเกษตร
5) เพื่อการอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2565/66 ตามปริมาณน้ำต้นทุนและความเหมาะสมของพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชได้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ ดังนี้
แผนการพื้นที่การเพาะปลูกทั้งประเทศ จำนวน 16.30 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 13.55 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 10.42 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 3.13 ล้านไร่และพืชไร่พืชผักจำนวน 2.75 ล้านไร่โดยเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.64 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2.11 ล้านไร่
สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด พื้นที่รวม 9.23 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 8.51 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 6.64 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 1.87 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก จำนวน 0.72 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.10 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 0.62 ล้านไร่ และลุ่มน้ำแม่กลอง 7 จังหวัด พื้นที่รวม 1.13 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.87 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.84 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 0.03 ล้านไร่และพืชไร่พืชผัก จำนวน 0.25 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.16 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 0.09 ล้านไร่
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจากปีนี้มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ จึงสามารถจัดสรรน้ำในการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2565/66 พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุนพืชที่มีศักยภาพได้ผลตอบแทนสูง เช่น ข้าวโพดหวาน ถั่วลิสง ข้าวโพดฝักอ่อน เป็นต้น และสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของรัฐ เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกร และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566 เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 โดยจะเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และด้านการตลาดให้เกษตรกรรับทราบข้อมูลข่าวสารด้านสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน สร้างการรับรู้เพื่อให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ รวมถึงแนวโน้มความต้องการของตลาด ราคา แหล่งรับซื้อผลผลิตพืชฤดูแล้ง และการแนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติดูแลรักษาพืชในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งการรักษาความชื้นและลดการเผาตอซังอีกด้วย