สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นมีลมแรง โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง (ภาคตะวันออก) กรมวิชาการเกษตร เตือนผู้ปลูกทุเรียนในระยะออกดอก รับมือไรแดงแอฟริกัน ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eutetranychus africanus (Tucker) ซึ่งเป็นศัตรูชนิดหนึ่งที่เป็นปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน
การทำลายของไรชนิดนี้มีความรุนแรงมากโดยเฉพาะภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เนื่องจากไรแดงเป็นศัตรูที่มีขนาดเล็กมาก การเพิ่มปริมาณประชากรเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกษตรกรมักไม่ทันสังเกตเห็น การป้องกันกำจัดจึงไม่ทันการณ์ทำให้เกิดความเสียหายกับทุเรียนอย่างหนัก
ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ที่บริเวณหน้าใบ พบระบาดทำความเสียหายแก่ทุเรียนโดยเฉพาะเมื่อสภาพอากาศแห้งแล้งและลมแรง ที่หน้าใบจะเห็นคราบของไรคล้ายผงหรือฝุ่นละอองสีขาวเกาะอยู่ สีของใบจะซีดไม่เขียวเป็นมันเหมือนใบปกติ ถ้าการทำลายเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจมีผลทำให้ทุเรียนใบร่วง การเจริญเติบโตหยุดชะงักและมีผลกระทบต่อการติดดอกและผลของทุเรียนได้ ประชากรไรมักหนาแน่นมากบริเวณทรงพุ่มด้านนอกที่ถูกแสงแดด ส่วนยอดหรือด้านบนของทรงพุ่ม การแพร่ระบาดในสวนพบว่าจะระบาดรุนแรงเป็นหย่อม ๆ ทางด้านเหนือลม ด้านขอบรอบแปลงและด้านที่ติดถนน
เกษตรกรชาวสวนทุเรียนจะต้องตรวจตราต้นทุเรียนอย่างใกล้ชิดโดยสำรวจดูบนใบทุเรียนว่าพบเห็น”ไร”หรือไม่ ไรแดงแอฟริกัน สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลเข้ม วิ่งเคลื่อนไหวไปมาหรือใช้แว่นขยายขนาดกำลังขยาย 10 เท่า ส่องดูก็จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
“การสำรวจอย่างผิวเผินโดยสังเกตดูการเปลี่ยนสีของใบทุเรียนเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอเพียง เพราะนั่นหมายถึง การระบาดเกิดขึ้นอย่างรุนแรงเสียแล้ว สายเกินไปที่จะป้องกันกำจัดให้ได้ผล”
วงจรชีวิต
การเจริญเติบโตจากไข่เป็นตัวเต็มวัย มีตัวอ่อน 3 ระยะ ตัวอ่อนระยะที่ 1 มีขาเพียง 6 ขา ส่วนตัวอ่อนระยะที่ 2,3 และตัวเต็มวัยมีขา 8 ขา ไรเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ โดยก่อนที่จะลอกคราบจะมีการพักตัว ดังนั้นบนใบทุเรียนใบหนึ่ง ๆ เราอาจพบเห็นไรทั้งที่วิ่งอยู่ไปมาและที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มีเปลือกหุ้มซึ่งเป็นระยะพักตัวก่อนลอกคราบ ไรในระยะพักตัวจะไม่กินอาหาร
ลักษณะทางกายภาพ
เพศผู้มีลำตัวเรียวแคบ ก้นแหลม ขายาว ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน
เพศเมีย มีลักษณะลำตัวกลมแบน ความยาวลำตัวโดยเฉลี่ย 417.67 ไมครอน กว้าง 350.33 ไมครอน ตัวสีน้ำตาลเข้ม ขาทั้ง 4 คู่มีสีเหลืองอ่อน ปลายขามีสีแดง ใช้เวลาในการเจริญจากไข่เป็นตัวเต็มวัย 9.32 วัน โดยมีระยะไข่เฉลี่ย 4.5 วัน ตัวอ่อนระยะที่ 1,2 และ 3 ใช้เวลา 1.8, 1.3 และ 1.7 วัน ตามลำดับ
เพศเมียที่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์สามารถวางไข่ได้โดยตัวอ่อนที่ฟักจากไข่จะเจริญเป็นไรเพศผู้ทั้งหมด ส่วนตัวเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์มีชีวิตยืนยาวเพียง 6.5 วัน วางไข่ได้ตลอดช่วงอายุขัยเฉลี่ย 28 ฟอง ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจากไข่ ที่ได้รับการผสมพันธุ์จะมีทั้งเพศผู้และเพศเมีย อัตราส่วนประมาณ 1 : 5
ไรแดงแอฟริกัน เริ่มมีปริมาณสูงในเดือนกันยายน-ตุลาคม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ จะพบไรแดงสูงที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม จากนั้นจะค่อย ๆ ลดลง ปริมาณอาจสูงขึ้นอีกในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่ง
แล้งจัดและมีน้อยมากในช่วงฤดูฝน ดังนั้น การพยากรณ์การระบาดของไรแดงในสวนทุเรียน จึงสามารถดูได้จากปริมาณน้ำฝนช่วงปลายฤดูเป็นหลัก “เมื่อใดที่ฝนเริ่มทิ้งช่วง อากาศแห้งแล้งและมีลมพัดแรง ให้รีบทำการสำรวจไรแดงแอฟริกัน และป้องกันกำจัดทันที
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
๑. หมั่นตรวจดูใบทุเรียน โดยใช้แว่นขยาย กำลังขยาย ๑๐ เท่า ส่องดูด้านหน้าใบ ในช่วงเดือนตุลาคม – มกราคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่มีลมพัดแรงและฝนทิ้งช่วง
๒. สารฆ่าไรที่ใช้ได้ผลในการป้องกันกำจัดไรแดงแอฟริกัน ได้แก่ สารโพรพาร์ไกต์ ๓๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๓๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรืออะมิทราซ ๒๐% อีซี อัตรา ๓๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นทั้งต้นโดยเฉพาะบริเวณยอดเมื่อพบไรระบาด
การใช้สารฆ่าไร ไม่ควรพ่นสารชนิดเดียวกันติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรใช้สลับชนิดกันเพื่อป้องกันไรสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าไร และใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น