กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) เปิดเผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลกโดยระบุว่า กิจกรรมเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวลงแบบเป็นวงกว้างและมากกว่าที่คาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ โดย IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวแบบชะลอตัวที่ 3.2% ในปี 2565 จากการขยายตัว6.0% ในปี 2564 นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะชะลอตัวลงเพิ่มเติมสู่การขยายตัว 2.7% ในปี 2566
IMF หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ออกรายงานคาดการณ์ GDP ปี 2023 ของประเทศต่างๆทั่วโลกผลปรากฎว่า ประเทศไทย เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ที่ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโต มี GDP เป็นบวก คือ จาก 2.8 เป็น 3.7
โดยในเอเชีย มีเพียงไทยและจีน(3.2 เป็น 4.4) เท่านั้น ที่ IMF คาดการณ์ว่า GDP จะเป็นบวก (ไม่นับฮ่องกงและมาเก๊า) ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวที่ไหลกลับเข้ามา รวมถึงการลงทุนขนาดใหญ่ที่รัฐบาลได้ไปเจรจาไว้ โดยเฉพาะ EEC และเสถียรภาพทางการคลังของประเทศด้วย
ส่วนในยุโรปเศรษฐกิจตกต่ำกันถ้วนหน้า มีเพียงเอสโตเนียประเทศเดียวที่เพิ่มจาก 1.0 เป็น 1.8 บางประเทศเช่นเยอรมนี อิตาลี สวีเดน ติดลบเลยด้วยซ้ำ ส่วนทวีปอเมริกา มีเพียงเวเนซุเอลา และปารากวัยที่GDP เพิ่ม ส่วนในตะวันออกกลาง กับแอฟริกา ก็มีบางประเทศเล็กๆที่มี GDP เพิ่ม
นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ IMF กล่าวขณะเข้าร่วมการประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯว่า เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเอเปคส่วนใหญ่กำลังชะลอตัวลง และอย่างน้อย 1 ใน 3 ของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
โดยสหรัฐ จีน และยุโรปเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวพร้อมกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยทั้ง 3 ถือเป็นหัวแรงหลักในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในบางพื้นที่ยังคงมีความสดใส โดยอาเซียนเป็นหนึ่งในนั้น เช่นเดียวกับบางประเทศที่ได้ผลประโยชน์จากเงื่อนไขการค้าที่ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับแต่โดยรวมแล้ว เศรษฐกิจโลกทรุดตัวลง โดยความเสี่ยงขาลงเข้าครอบงำ
รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจของ IMF แสดงให้เห็นว่า ไทยและจีน เป็นเพียงสองประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2566 เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ปีก่อนหน้า ไม่นับรวมฮ่องกงและมาเก๊า
โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ของไทยนั้น มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.8% ในปีนี้เป็น 3.7% ในปี 2566 นอกจากนี้ คาดการณ์อัตราว่างงานของไทยยังต่ำที่สุดในโลกที่ 1.0% ทั้งในปีนี้และปีหน้า ขณะที่ในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก อัตราว่างงานของไทยอยู่ที่ 1.5% เป็นรองแค่คูเวตที่ 1.3%
โดยวิกฤตค่าครองชีพ ภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค การรุกรานยูเครนของรัสเซีย และการแพร่ระบาดแบบต่อเนื่องของโควิด-19 ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ถ่วงแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
https://www.imf.org/en/Publications/WEO/Issues/2022/10/11/world-economic-outlook-october-2022