กรมทะเลฯ เตือนทำการประมงอย่างถูกกฎหมายหลังพบมีการลักลอบทำประมงผิดกฎหมายคราดหอยด้วยคราดติดพ่วงกับเครื่องยนต์ พบจับแน่ แถมโทษปรับสูง

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาการใช้ เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย (เครื่องมือคราดหอย) โดยมีนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ในสังกัด ทช. ตลอดจนคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Application) การประชุมครั้งนี้ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาการใช้เครื่องมือคราดหอย ซึ่งเป็นการทำประมงผิดกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

316109398 508740991287542 6046314853312732894 n
เตือนทำประมงอย่างถูกกฎหมาย

ในโอกาสนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.)ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ในสังกัด เร่งลงพื้นที่สร้างความเข้าใจแก่ชาวประมง เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือประมงแบบถูกกฎหมาย พร้อมทั้งให้เฝ้าระวังในพื้นที่ฝั่งทะเลอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน เนื่องจากผ่านมาทุกปีมีเรือคราดหอยเข้ามาทำการประมง ทำให้กระทบต่ออาชีพชาวประมงพื้นบ้าน และส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

316114748 508740884620886 526676195534649032 n
ลักลอบทำประมงคราดหอยด้วยคราดติดพ่วงกับเครื่องยนต์

ส่วนมาตรการต่อไปหลังจากนี้ได้มีการหารือกับหน่วยงานระดับจังหวัด กำหนดเป็นแผนปฏิบัติการป้องกันถ้าชาวประมงเหล่านี้ยังคงใช้คราดติดพ่วงกับเครื่องยนต์ มาคราดพันธุ์หอยกันอีกจะต้องมีการบันทึกภาพขณะกระทำความผิดผ่านอากาศยานไร้คนขับเพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดีและจะทำการสืบหานายทุนผู้รับซื้อ ซึ่งถือว่าเป็นผู้สนับสนุนกระทำผิดเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

316048780 508741147954193 4972329097061877115 n 2
เครื่องมือคราดหอย

“อยากฝากพี่น้องประชาชนที่ลักลอบทำประมงคราดหอยด้วยคราดติดพ่วงกับเครื่องยนต์ ซึ่งมีโทษปรับสูงถึงหลักแสนบาท และยึดอุปกรณ์เครื่องมือการทำประมงโดยไม่มีข้อยกเว้น จึงอยากให้กลุ่มชาวประมงเหล่านี้เปลี่ยนวิธีการจับหอย ให้เป็นลักษณะแบบงมกับมือเพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน”

ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ตนได้กำชับเจ้าหน้าที่ในสังกัด ให้เร่งประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการทำประมงถูกกฎหมาย แก่ชาวประมงในที่ฝั่งทะเลอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน เนื่องจากที่ผ่านมาทุกปีมีเรือคราดหอยเข้ามาทำการประมงจึงทำให้ชาวประมงกลุ่มทำประมงเชิงอนุรักษ์เป็นห่วงต่อทรัพยากรในพื้นที่อย่างมาก เกรงว่าจะเป็นที่หมายตาของกลุ่มเรือประมงผิดกฎหมาย ที่นำคราดตะแกรงตาถี่ติดพ่วงกับเรือเครื่องยนต์ มาคราดหอยนำไปขายให้พ่อค้าแม่ค้า จนหวั่นทำให้สูญพันธุ์ ทั้งนี้ผู้แทนกลุ่มทำประมงเชิงอนุรักษ์จึงได้เข้าหารือกับตนในฐานะอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้เข้ามาดำเนินการแก้ไข ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้

“ตามกฎหมายได้มีการอนุญาตให้ชาวประมง และชาวบ้านงมจับหอยขึ้นจากท้องทะเลเพื่อบริโภค ทำให้มีพันธุ์หอยที่หลุดจากการงมของชาวบ้านด้วยมือเปล่า ทำให้หอยสามารถขยายพันธุ์ได้มากขึ้นและมีขนาดใหญ่จนกลายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้แต่เป็นที่เสียดาย เพราะยังมีชาวบ้านชาวประมงบางคนยังคงนิยมทำการประมงลักษณะใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมาย และเป็นเครื่องที่ทำลายล้างสูง โดยไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง คิดแต่ผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น จึงอยากให้ชาวประมงเหล่านี้เปลี่ยนจากการใช้คราดติดพ่วงเครื่องยนต์ มาใช้งมด้วยมือหรืออาจจะใช้คราด แต่ต้องคราดด้วยมือเท่านั้น”นายอรรถพล กล่าว

ทั้งนี้ ได้มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กําหนดเครื่องมือทําการประมง รูปแบบ และพื้นที่ทําการประมงของเครื่องมือประมงคราดหอยที่ห้ามใช้ทําการประมงในที่จับสัตว์น้ำ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีเนื้อหาว่า ด้วยเป็นการสมควรปรับปรุงมาตรการที่เกี่ยวกับเครื่องมือประมงคราดหอยที่ใช้ประกอบเรือกลทําการประมงในที่จับสัตว์น้ํา เพื่อให้สอดคล้องการแบ่งเขตทําการประมง ตามพระราชกําหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘

อาศัยอํานาจตามมาตรา ๗๑ (๑) แห่งพระราชกําหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงออกประกาศ ดังต่อไปนี้


….ข้อ ๒ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมือคราดหอยประกอบเรือกลทําการประมง ในที่จับสัตว์น้ำบริเวณน่านน้ำภายในและทะเลชายฝั่ง

ข้อ ๓ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมือคราดหอยประกอบเรือกลที่มีรูปแบบของเครื่องมือ ขนาดของเรือประมง ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ทําการประมงในที่จับสัตว์น้ำในบริเวณทะเลนอกชายฝั่ง

(๑) เครื่องมือคราดหอยที่มีความกว้างของปากคราดเกินกว่า ๓.๕ เมตร

(๒) เครื่องมือคราดหอยที่มีขนาดช่องซี่คราดต่ำกว่า ๑.๒ เซนติเมตร (โดยวัดจากด้านในของซี่คราดหนึ่งไปยังด้านในของอีกซี่คราดหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กัน)

(๓) ความยาวของเรือกลที่ใช้ประกอบกับเครื่องมือคราดหอยต้องไม่เกิน ๑๘ เมตร

(๔) จํานวนของเครื่องมือคราดหอยต้องไม่เกิน ๓ อัน ต่อเรือกล ๑ ลํา

ความใน (๓) มิให้ใช้บังคับกรณีการใช้เครื่องมือคราดหอยของผู้ที่ได้รับอนุญาตทําการประมงพาณิชย์ก่อนหน้าวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ