นางประเทือง วาจรัต รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 จังหวัดอุบลราชธานี (สศท.11)สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2565 (ข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ จังหวัดอุบลราชธานี ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565) พบว่า จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวม 21 อำเภอ 1,328 หมู่บ้าน 50,755 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตรที่คาดว่าได้รับความเสียหาย แบ่งเป็น ข้าวนาปี 286,870 ไร่ พืชไร่/มันสำปะหลัง 75,944 ไร่ และไม้ยืนต้น/ยางพารา 6,011 ไร่
กระทรวงเกษตรฯได้สั่งการและมอบหมายให้ทุกหน่วยงาน พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ตามขอบข่ายภารกิจแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ทั้งในด้านพืช ด้านปศุสัตว์ และด้านประมง รวมทั้งการฟื้นฟูและเยียวยาให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์การช่วยเกษตรกร โดยยึดตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยการช่วยเหลือเกษตรกรจะดำเนินการช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติที่ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลแต่ละด้านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้มีส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนและฟื้นฟูหลังน้ำลดให้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยสนับสนุนให้ปลูกพืชผักที่มีอายุเก็บเกี่ยวระยะสั้น สำหรับบริโภคและจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งทาง สศท.11 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และสำรวจต้นทุนการผลิตพืชผักของเกษตรกร อำเภอเมือง อำเภอวารินชำราบ และอำเภอม่วงสามสิบ พบว่า พืชผักมีอายุเก็บเกี่ยวระยะสั้นประมาณ 45 – 60 วันสร้างรายได้ดีและมีตลาดรองรับแน่นอน ซึ่งเกษตรกรสามารถขายสินค้าให้กับพ่อค้าในท้องถิ่นรับซื้อที่สวน หรือตลาดวารินเจริญศรี (แหล่งขายส่งพืชผัก) และตลาดเทศบาลวารินชำราบ” นางประเทือง วาจรัต กล่าว
หากจำแนกพืชผักที่น่าสนใจ สามารถปลูกหลังน้ำลดและสร้างรายได้ให้เกษตรกร พบว่า กลุ่มพืชผักที่สามารถปลูกได้หลายรอบการผลิตใน 1 ปี ได้แก่ หัวไชเท้า ปลูกได้ 3-4 รอบ/ปี ต้นทุนการผลิต 12,968.53 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต 4,640 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ราคาขาย 10 บาท/กิโลกรัม ผลตอบแทน 46,400 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) 33,431.47 บาท/ไร่/รอบการผลิต ขึ้นฉ่าย ปลูกได้ 4-5 รอบ/ปี ต้นทุนการผลิต 12,129.27 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต 1,080 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ราคาขาย 42.50 บาท/กิโลกรัม ผลตอบแทน 45,900 บาท/ไร่/รอบการผลิต ได้กำไร 33,770.73 บาท/ไร่/รอบการผลิต
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มพืชผักที่เกษตรกรนิยมปลูกเพียง 1 รอบการผลิต สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 5 – 6 เดือน ได้แก่ พริกหัวเรือ ต้นทุนการผลิต 56,220.81 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต 3,316.67 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ราคาขาย 34.83 บาท/กิโลกรัม ผลตอบแทน 115,519.62 บาท/ไร่/รอบการผลิต ได้กำไร 59,298.81 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผักชีฝรั่ง ต้นทุนการผลิต 24,310.77 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต 2,089.33 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ราคาขาย 18.89 บาท/กิโลกรัม ผลตอบแทน 39,467.44 บาท/ไร่/รอบการผลิต ได้กำไร 15,156.67 บาท/ไร่/รอบการผลิต แมงลัก ต้นทุนการผลิต 24,500.16 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต 1,349.33 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ราคาขาย 26.49 บาท/กิโลกรัม ผลตอบแทน 35,743.75 บาท/ไร่/รอบการผลิต ได้กำไร 11,243.59 บาท/ไร่/รอบการผลิต และ โหระพา ต้นทุนการผลิต 33,860.42 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต 1,720 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ราคาขาย 25.99 บาท/กิโลกรัม ผลตอบแทน 44,702.80 บาท/ไร่/รอบการผลิต ได้กำไร 10,842.38 บาท/ไร่/รอบการผลิต
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายและตรวจสอบข้อมูลเอกสารให้ครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร รวมทั้งเตรียมเสนอโครงการ/มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วนและเตรียมให้มีการปลูกพืชทดแทนหลังน้ำลด สามาถใช้เป็นอาหารและเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกรก่อนถึงฤดูทำนาปกติ
หากท่านใดสนใจข้อมูลสามารถสอบถามได้ที่สํานักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี โทร 0 4531 1052 สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ หรือ สศท.11 โทร 0 4534 4654 หรืออีเมล [email protected]