รถไฟบรรทุกสมุนไพรจากตำบลด่งดัง ทางตอนเหนือของเวียดนาม เดินทางถึงเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีนแล้ว นับเป็นการขยายความร่วมมือในอุตสาหกรรมแพทย์แผนจีน (TCM) ระหว่างจีนกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN) ขณะที่การส่งออกสมุนไพรไทย ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก และมูลค่าการตลาดยังขยับเพิ่มขึ้นทุกปี
หน่วยงานด่านรถไฟผิงเสียงในกว่างซีระบุว่ารถไฟขบวนดังกล่าวบรรทุกจีเซวี่ยเถิง หรือโกยฮวยติ้ง(Caulis Spatholobi) มากกว่า 95 ตัน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 480,000 หยวน (ราว 2.47 ล้านบาท)
อาเซียนถือเป็นตลาดนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์แพทย์แผนจีนที่สำคัญ โดยกระวานและใบมะขามแขกจากอินโดนีเซีย โกยฮวยติ้งจากเวียดนาม และลูกสำรองจากไทย เป็นสมุนไพรที่ได้รับกระแสตอบรับดีในกลุ่มบริษัทเภสัชภัณฑ์ของจีน
ขณะเดียวกันจีน ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์แพทย์แผนจีนหลายชนิดสู่กลุ่มประเทศอาเซียน เช่น สารสกัด อาหารบำรุงสุขภาพ และยาสมุนไพร
เขตปกครองตนเอง”กว่างซี” ซึ่งเป็นประตูสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านการแพทย์แผนโบราณระหว่างจีนและอาเซียน และเป็นช่องทางหลักของการนำเข้าสมุนไพรแพทย์แผนจีน ซึ่งมีรายงานปริมาณการนำเข้าสมุนไพรแพทย์แผนจีนจากกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้
ทั้งนี้ ข้อมูลศุลกากรเปิดเผยว่ากว่างซีนำเข้าสมุนไพรแพทย์จีนจากกลุ่มประเทศอาเซียนมากกว่า 6,809 ตัน ในปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 329 จากปีก่อนหน้า
หากมองกลับมาดูการผลิต สมุนไพรไทย จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า จนถึงปี 2564 มีเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรที่ขึ้นทะเบียนรวม 2,866 ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันผลิตสมุนไพรตามระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ตั้งแต่ปี 2559
จนถึงปัจจุบันมีการรวมกลุ่มผลิตสมุนไพรในรูปแบบแปลงใหญ่จำนวน 34 แปลง ใน 21 จังหวัด 1,531 ราย พื้นที่ 5.5 พันไร่ ซึ่งในปี 2565 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ของบประมาณ เพื่อจัดทําโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต สินค้าพืชสมุนไพร โดยขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัด
สำหรับมูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศ มีอัตรการเติบโตเฉลี่ย 10.3% ภายหลังประกาศใช้แผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยแห่งชาติฉบับที่ 1 (ช่วงปี 2560-2562) ซึ่งมากกว่า จีน ที่เติบโตเฉลี่ย 5.06% เกาหลีใต้ 5.43% และญี่ปุ่น 0.85% การส่งออกพืชสมุนไพร อยู่ในรูปวัตถุดิบแห้งและบด สารสกัดหยาบและผลิตภัณฑ์
โดยมูลค่าการส่งออกส่วนใหญ่ของสมุนไพร แฝงอยู่ในสินค้าหลายประเภทที่ไม่ได้นำมารวมมูลค่า เช่นสินค้าเครื่องสำอาง เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส อาหาร ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านค้า การนวดและสปา ดังนั้นตลาดสมุนไพรจึงเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ตลาดส่งออกที่บริโภคสมุนไพรที่สำคัญ ได้แก่ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐ เป็นต้น
ตลาดสมุนไพรโลก มีมูลค่าการบริโภคสมุนไพร ในแต่ละภูมิภาคของโลก 54,957 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯโดย 12 ประเทศที่มีมูลค่าการบริโภคสมุนไพร อันดับ 1 ได้แก่ประเทศจีน มีมูลค่า 17,039.9 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ รองลงมาได้แก่ สหรัฐอเมริกา7,636.40 ล้านดอนล่าร์สหรัฐฯ ญี่ปุ่น 4,628,6 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯและของไทยอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก มีมูลค่าการบริโภคสมุนไพร 1,483.5 ล้านดอนล่าร์สหรัฐฯ
ส่วนตลาดอาเซียน การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคี ประเทศไทย มีข้อได้เปรียบด้านประสบการณ์การศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เภสัชอุตสาหกรรมและการตลาด แต่ในภาคการผลิตวัตถุดิบสมุนไพรที่เป็นต้นน้ำ ยังจำเป็นต้องเร่งเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของเกษตรกร ทั้งด้าน คุณภาพ ต้นทุนและแรงงาน เพื่อแข่งขันกับวัตถุดิบราคาถูกจากประเทศสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี)สมุนไพรไทย
ขอบคุณข้อมูลข่าวและภาพบางส่วนจาก : สำนักข่าวซินหัว(จีน)