นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมประมง ให้ชี้แจงทำความเข้าใจกรณีมีข่าวระบุว่า การจับสัตว์น้ำด้วยอวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ ทำลายสัตว์น้ำในทะเลไทย เนื่องจากมีการจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนมากถึง 1 ล้านตัน เพื่อนำมาผลิตปลาป่น กรมประมง ขอชี้แจงประเด็นดังกล่าวดังนี้
กรมประมงมีการบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของชาวประมง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำทะเลอย่างยั่งยืนตามหลักสากล ภายใต้จรรยาบรรณในการทำการประมงอย่างรับผิดชอบขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO Code of Conduct for Responsible Fisheries) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 14 (SDG14) อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
ในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเล ได้แบ่งทรัพยากรเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) สัตว์น้ำหน้าดิน จับได้จากอวนลากเป็นหลัก 2) ปลาผิวน้ำ จับได้จากอวนล้อมจับเป็นหลัก และ 3) ปลากะตัก จับได้จากอวนล้อมจับปลากะตัก และอวนครอบ/ช้อน/ยกปลากะตัก เป็นหลัก ปัจจุบันมีเรือประมงพาณิชย์ 9,608 ลำ และเรือประมงพื้นบ้าน 50,012 ลำ ซึ่งมีพี่น้องชาวประมงที่เป็นเจ้าของเรือกว่า 50,000 ราย มีแรงงานประมงกว่า 200,000 ราย
ในปี 2564 มีผลจับสัตว์น้ำทั้งหมด 1,297,000 ตัน ประกอบด้วยสัตว์น้ำเศรษฐกิจซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่สามารถนำมาบริโภคได้โดยตรง หรือนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เท่ากับ 978,000 ตัน หรือร้อยละ 75.4 ของผลจับสัตว์น้ำทั้งหมด และสัตว์น้ำขนาดเล็กที่เรียกว่าปลาเป็ด เท่ากับ 319,000 ตัน หรือร้อยละ 24.6 (ประกอบด้วยปลาเป็ดแท้ ปลากะตัก และสัตว์น้ำวัยอ่อน)
ผลจับสัตว์น้ำจากอวนลากแบ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ และปลาเป็ด
โดยปลาเป็ดประกอบไปด้วยสัตว์น้ำ 3 ส่วน คือ 1) ปลาเป็ดแท้ หมายถึง สัตว์น้ำที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้วยังมีขนาดเล็กอยู่ ซึ่งไม่นิยมนำมาบริโภค 2) ปลากะตัก เป็นปลาผิวน้ำขนาดเล็ก ความยาวลำตัวสูงสุด 8-9 เซนติเมตร นิยมนำมาทำน้ำปลา และ 3) สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน ซึ่งสามารถเจริญเติบโตเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่นำมาบริโภคได้ ในปี 2564 ปริมาณการจับสัตว์น้ำจากอวนลากในน่านน้ำไทยเท่ากับ 554,600 ตัน แบ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ 262,300 ตัน และปลาเป็ด 292,300 ตัน โดยเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนประมาณ 190,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 34.3 ของผลจับสัตว์น้ำทั้งหมดจากอวนลาก ส่วนอวนล้อมจับ อวนล้อมจับปลากะตัก และอวนครอบ/ช้อน/ยกปลากะตัก มีผลจับปลาเป็ดรวมกัน 22,635 ตัน
ทั้งนี้ ในปี 2564 ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตปลาป่น 247,770 ตัน เป็นปลาป่นที่ผลิตโดยใช้ปลาเป็ดจากเรือประมง 76,730 ตัน หรือร้อยละ 30.97 ของปริมาณปลาป่นทั้งหมด ปลาป่นส่วนที่เหลือเป็นการผลิตโดยใช้วัตถุดิบที่เป็นเศษเหลือจากโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ โดยปลาเป็ดบางส่วนสามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์น้ำในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือใช้เป็นปลาเหยื่อในการทำประมง เช่น การทำประมงลอบปู มิใช่นำมาผลิตปลาป่นเท่านั้น
ในส่วนของเครื่องมือทำการประมงนั้น อวนรุนเป็นเครื่องมือที่ห้ามมิให้ผู้ใดใช้หรือมีไว้ในครอบครองตามมาตรา 67 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ยกเว้นอวนรุนเคย ซึ่งเคยนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตกะปิ การทำประมงอวนรุนเคยสามารถจับเคยได้ร้อยละ 85-95 ของผลจับสัตว์น้ำทั้งหมดจากอวนรุนเคย ซึ่งพบสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ปะปนอยู่น้อยมาก และไม่พบปลาเป็ดจากการประมงอวนรุนเคย ส่วนอวนรุนกุ้งและอวนรุนปลา เป็นเครื่องมือที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถใช้ทำการประมงได้ ส่วนเรือปั่นไฟนั้น อนุญาตให้ทำการประมงประกอบกับอวนล้อมจับที่มีขนาดตาอวนไม่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งใช้จับปลาผิวน้ำชนิดต่าง ๆ ส่วนปลาขนาดเล็กสามารถหลุดลอดตาอวนได้ ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมามีการใช้เรือปั่นไฟประกอบอวนล้อมจับปลากะตักซึ่งมีขนาดตาอวน 0.6 เซนติเมตร แต่ในปัจจุบันการใช้เรือปั่นไฟประกอบอวนล้อมจับปลากะตักเป็นการทำประมงผิดกฎหมายตามมาตรา 69 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558
นอกจากนี้ กรมประมงมีการป้องกันการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนอยู่หลายมาตรการ เช่น การห้ามทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำเลี้ยงตัวอ่อน หรือปิดอ่าว ในฝั่งอ่าวไทย 7 พื้นที่ และฝั่งทะเลอันดามัน 1 พื้นที่ เพื่อให้สัตว์น้ำขนาดเล็กได้เจริญเติบโต การกำหนดขนาดตาอวน เช่น อวนลาก กำหนดขนาดตาอวนก้นถุงไม่ต่ำกว่า 4 เซนติเมตร อวนล้อมจับ ขนาดตาอวนไม่ต่ำกว่า 2.5 เซนติเมตร อวนครอบ/ช้อน/ยกปลากะตัก และอวนล้อมจับปลากะตัก ขนาดตาอวนไม่ต่ำกว่า 0.6 เซนติเมตร และอวนครอบหมึก ขนาดตาอวนไม่ต่ำกว่า 3.2 เซนติเมตร เป็นต้น การกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง ซึ่งสงวนไว้เฉพาะเรือประมงพื้นบ้าน โดยห้ามเรือประมงพาณิชย์ การประกาศพื้นที่หลบภัยสัตว์น้ำ และการเร่งรัดนำเรือที่ใช้เครื่องมือประสิทธิภาพสูงออกนอกระบบ เป็นต้น
กรมประมงจึงขอยืนยันว่าทุกการดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรประมงนั้น เราให้ความสำคัญกับการทำประมงที่ยั่งยืน นั่นหมายถึงทั้งตัวทรัพยากรและการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมงจะต้องมั่นคงและคู่ขนานกันไป ทรัพยากรอยู่ได้ ชาวประมงอยู่ได้ ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองอธิบดีกล่าว