กรมชลประทาน ขานรับนโยบายรัฐบาล เดินหน้าจ้างแรงงานชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ปี 2566 จัดสรรงบกว่า 5.33 พันล้านบาท มีเป้าหมายจ้างแรงงาน 8.6 หมื่นคน พร้อมเชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ หวังสร้างรายได้ทดแทนและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ในการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศ ด้วยการดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ปีงบประมาณ 2566 ปฏิบัติงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ งานก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน/ชนบท แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำ รวมทั้งโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
โดยในปีนี้ มีแผนจ้างแรงงานวงเงินกว่า 5,336 ล้านบาท สามารถจ้างแรงงานได้ประมาณ 86,000 คน ระยะเวลาการจ้างอยู่ระหว่าง 3 – 10 เดือน วงเงินจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 26,100-87,000 บาท/คน (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ้างต่อคน) โดยเกณฑ์การจ้างแรงงานจะพิจารณากลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ดังนี้
1. เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือเกษตรกรในพื้นที่
2. สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่
3. ประชาชน และผู้ใช้แรงงานทั่วไปในพื้นที่
และ 4. หากแรงงานในพื้นที่มีไม่เพียงพอให้พิจารณาจ้างเกษตรกรหรือแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำ ตามลำดับ
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลการรับสมัครได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่ต้นปี 65 เป็นต้นมา ภาคเกษตรของไทยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ทั้งภัยแล้งและภัยน้ำท่วมมาแล้วหลายระลอกหลังจากร่องมรสุมพัดผ่านนำฝนเข้ามาตกหนักในประเทศไทย ต่อมาปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาพายุดีเปรสชันชื่อ “โนรู” ก็พัดเข้ามาซ้ำเติมอีก ทำให้ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องหลายวัน น้ำฝนจากพายุลูกใหม่ตกลงมาบวกกับน้ำที่สะสมอยู่แต่เดิมทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยจมอยู่ใต้น้ำ และแม้ว่าพายุโนรูเคลื่อนผ่านไปแล้วก็ยังมีฝนตกหนักต่อเนื่องอีก โดยพื้นที่ที่น้ำท่วมขังส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้ปีนี้เป็นอีกปีที่ชีวิตเกษตรกรไทยยากลำบากจากฝนฟ้าอากาศ
ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานข้อมูลสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ล่าสุด ณ วันที่10 พฤศจิกายน 2565 ดังนี้
ผลกระทบด้านการเกษตร
ด้านพืช ได้รับผลกระทบ 60 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ตาก แพร่ พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ เลย มหาสารคาม บุรีรัมย์ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด ยโสธร หนองคาย หนองบัวลำภู ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี ตราด ปราจีนบุรี ปทุมธานี นครนายก นครปฐม กาญจนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรีสมุทรสาคร ภูเก็ต ตรัง สตูล และจังหวัดสงขลา
เกษตรกรได้รับผลกระทบ 649,742 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 5,509,896 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 3,611,514 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,809,704 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ 88,678 ไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 374,196 ราย พื้นที่ 3,396,710 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 2,257,096 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,121,233 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่นๆ 18,381 ไร่ คิดเป็นเงิน 5,318.34 ล้านบาท ช่วยเหลือแล้ว เกษตรกร 3,192 ราย พื้นที่ 13,049 ไร่ วงเงิน 24.21 ล้านบาท
ด้านประมง รับผลกระทบ 50 จังหวัด กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ตาก พะเยา ลำปาง ลำพูน พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์สุโขทัย อุตรดิตถ์นครสวรรค์ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ เลย นครราชสีมา ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์หนองบัวลำภู อุบลราชธานีอำนาจเจริญ อุดรธานีหนองคาย มหาสารคาม กรุงเทพมหานคร ชัยนาท ฉะเชิงเทรา ตราด ระยอง ปราจีนบุรี นครนายก นครปฐม ลพบุรี สระบุรี สระแก้ว สิงห์บุรี สุพรรณบุรีอ่างทอง ราชบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ตรัง และจังหวัดสตูล
เกษตรกรได้รับผลกระทบ 32,320 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ 44,505 ไร่ แบ่งเป็น บ่อปลา 39,454 ไร่ บ่อกุ้ง 5,051 ไร่ กระชัง 74,151 ตรม. สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 5,009 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้รับความเสียหาย 6,531 ไร่ กระชัง 608ตร.ม.คิดเป็นเงิน 33.07 ล้านบาท
ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 32 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานีกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย บุรีรัมย์ ยโสธร หนองคาย ศรีสะเกษ สุรินทร์อุบลราชธานี ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง กาญจนบุรีระยอง จันทบุรี ปราจีนบุรี นครนายก นนทบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เกษตรกรได้รับผลกระทบ 90,432 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 8,595,491 ตัว แบ่งเป็น โค 235,270 ตัว กระบือ 58,098 ตัว สุกร 60,422 ตัว แพะ/แกะ 29,147 ตัว สัตว์ปีก 8,212,554 ตัว แปลงหญ้า 4,870 ไร่อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย