3 พ.ย.65 นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส. จังหวัดพังงา ในฐานะประธาน กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ นำทีม ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.จังหวัดพัทลุง น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.จังหวัดสมุทรสงคราม พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.จังหวัดสงขลา นายประมวล พงษ์ถาวราเดช ส.ส.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.จังหวัดระยอง นายอันวาร์ สาและ ส.ส.จังหวัดปัตตานี นายสราวุธ อ่อนละมัย กับนายอิสระพงษ์ มากอำไพส.ส.จังหวัดชุมพร นายวิวรรธน์ นิลวัชรมณี ส.ส.จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายเกียรติ สิทธีอมร กับนายจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาได้เร่งพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ประมง หวังให้ชาวประมงทั้งประเทศได้รับความเป็นธรรม
โดยนางกันตวรรณ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่ขณะนั้นเป็นการแก้ไขปัญหาซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่ EU ประกาศให้ธงเหลือง IUU Fishing กับประเทศไทย ด้วยเหตุที่ไม่ได้ให้ความร่วมมืออย่างเพียงพอในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม รัฐบาลจึงได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการออก พ.ร.บ.ประมง พ.ศ. 2558 แต่เป็นการออกกฎหมายแบบเร่งรีบ ทำให้รับฟังปัญหาไม่รอบด้าน ส่งผลให้บรรดา ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องชาวประมงทั่วทุกแห่งในประเทศไทย ว่า พ.ร.บ. ดังกล่าว ยังรับฟังปัญหาไม่เพียงพอ และไม่มีตัวแทนชาวประมงเข้าไปเสนอปัญหา ทำให้การออกกฎหมายในครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวประมง ตั้งแต่ประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ และประมงนอกน่านน้ำ ต้องประสบปัญหาหนี้สิน ล้มละลายเป็นจำนวนมาก
ตนจึงได้ลงพื้นที่ พร้อมกับพบปะและรับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องชาวประมง ที่เดินทางมาร้องเรียนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ปัจจุบันยังทราบว่า พ.ร.บ.ประมง ยังไม่ได้รับการแก้ไข ขณะที่ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ เคยเสนอญัตติเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ประธานรัฐสภา จึงมอบหมาย กมธ.การเกษตรฯ ตั้ง อนุ กมธ. เพื่อพิจารณา พ.ร.บ.ประมง โดยมีนายนริศ ขำนุรักษ์เป็นประธาน อนุ กมธ. ชุดดังกล่าว มีกรอบระยะเวลาพิจารณา 150 วัน และนำเสนอรายงานต่อสภาไประยะหนึ่งแล้ว รวมถึงได้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประมง ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในระเบียบวาระ และยังไม่ได้ถูกนำเข้าสู่การพิจารณา ทำให้ปัญหาของพี่น้องชาวประมงยังไม่ได้รับการแก้ไข
“พวกเราสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ยืนอยู่ตรงนี้ทุกคนจึงได้พูดคุยกัน และมีความเดือดร้อน เป็นกังวลกับปัญหาของพี่น้องชาวประมงที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจึงเรียกร้องให้สภาช่วยกันหยิบยก พ.ร.บ.ประมง ขึ้นมาพิจารณาด้วย” นางกันตวรรณ กล่าว
ในเรื่องนี้ นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.จังหวัดพัทลุง ได้แถลงเพิ่มเติมว่า เป็นที่ทราบดีว่า ภาคการประมงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการที่ EU ได้ประกาศยกระดับมาตรการประมงไทยให้เทียบเคียงมาตรฐาน EU พร้อมกับเร่งรัดให้ไทยแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด จากการกล่าวหาว่าไทยนั้นมีการทำประมงผิดกฎหมายและค้ามนุษย์ แต่รัฐบาลในขณะนั้นเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ได้ใช้มาตรา 44 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 10/2558 เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ภายในเวลา 6 เดือน ส่งผลกระทบต่อเรือประมง โดยเฉพาะประมงพาณิชย์ ซึ่งไทยนั้นมีกองทัพเรือประมงที่ใหญ่ที่สุดติด 10 ของโลกมาตลอด ทำให้เหลือเรือที่ตรงมาตรการ EU เพียง 3 ลำ และจากที่ประมงเคยทำรายได้เข้าประเทศหลายแสนล้านต่อปี จนในที่สุดทำให้ไม่มีรายได้จากการทำประมงเลย
จากข้อเสนอของ อนุ กมธ. ที่ได้เสนอต่อสภาไปแล้วนั้น มีข้อเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ประมง ด้วย จึงได้เชิญชวนพี่น้องชาวประมงมาร่วมกันร่างแก้ไขกฎหมายใน 14 ประเด็น 19 มาตรา แต่ในชั้น กมธ. จะสามารถแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ได้มากยิ่งขึ้น
“ผมเชื่อมั่นว่า หากการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประมง โดยพรรคประชาธิปัตย์ เข้าสู่การพิจารณาของสภา จะทำให้พี่น้องภาคการประมงสามารถฟื้นคืนขึ้นมาได้อีกครั้ง แม้จะไม่เหมือนกับในอดีตที่เราเคยเป็นเจ้าแห่งประมงโลก แต่เราก็สามารถกลับเข้ามาสู่จุดใกล้เคียงกับจุดเดิมได้ และกลับมามีทัพเรือประมงที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกได้ รวมทั้งทำรายได้เข้าประเทศปีละ 4 แสนล้านได้อีกครั้ง” นายนริศกล่าว
พร้อมกับเพิ่มเติมว่า จากข้อเสนอทั้ง 11 เรื่องของพี่น้องชาวประมง จะได้รับการแก้ไขโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้ดำเนินการแก้ไขไปเป็นจำนวนมากแล้ว แต่ปัญหาสำคัญที่เป็นเรื่องใหญ่คือการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ประมง ดังนั้นหากสภาผู้แทนราษฎร จะได้เร่งพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าว และ กมธ. ได้ปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ ก็เชื่อว่าภาคประมงจะกลับมาได้อีกครั้ง
นอกจากนี้นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมแถลงข่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งผู้แทนการค้าไทย ทางสหภาพยุโรป IUU ก็มีความพยายามกดดันประเทศไทย โดยพบว่าใน กมธ. ของยุโรปเองก็มีรายงานภายในที่ชี้ให้เห็นว่ามาตรการของ IUU นั้นเลือกปฏิบัติ และมีหลายกรณีที่แม้แต่ประเทศในกลุ่มยุโรปเองก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ ดังนั้นหากจะปลดทุกข์ของชาวประมงได้ ก็จะต้องมีเรื่องในมิติระหว่างประเทศด้วย โดยจะต้องมีการเจรจาที่เข้มข้น และนำเสนอข้อมูลที่ชี้ชัดว่ามีการนำมาตรการมาใช้เลือกปฏิบัติ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ขณะที่ประเทศซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของสหภาพยุโรปนั้นกลับได้สิทธิพิเศษ
“ในปี 2558 มีการแก้ไขมาตรการเกินกว่าที่สหภาพยุโรปเรียกร้อง และมีความสลับซับซ้อนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในชีวิตของการทำประมงของทุกประเทศ ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้นกฎหมายเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อปลดทุกข์ให้พี่น้องชาวประมงให้ได้” นายเกียรติ กล่าว
และเพิ่มเติมอีกว่า วานนี้ตนได้พบกับรองประธานสภาสหภาพยุโรป จึงได้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไปแล้ว พร้อมกับขอให้นำเรื่องนี้กลับไปทบทวนด้วย พร้อมกับแนะให้รัฐบาลได้เปิดการเจรจาเชิงรุกด้วย เพื่อทำให้ปัญหาของชาวประมงได้รับการแก้ไข โดยจะต้องแยกแยะปัญหาและข้อเรียกร้องระหว่างประมงพื้นบ้านกับประมงเชิงพาณิชย์ ด้วย เพราะทั้ง 2 กลุ่มประสบปัญหา และมีข้อเรียกร้องที่แตกต่างกัน