นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่หลายพื้นที่ของประเทศไทยต้องประสบปัญหาอุทกภัย และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัด เร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามบทบาทหน้าที่ และภารกิจของแต่ละหน่วยงานอย่างเต็มความสามารถ
โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้วางมาตรการและแนวทางในการเยียวยาเกษตรกร และฟื้นฟูพื้นที่เกษตรที่ประสบภัยไว้แล้ว พร้อมจะสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยได้ทันทีหลังสถานการณ์อุทกภัยในแต่ละพื้นที่คลี่คลายลง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการเยียวยา ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 โดยในส่วนพื้นที่ที่น้ำลดลงแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดเตรียมทีมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรพร้อมลงพื้นที่ไปสำรวจความเสียหายและชี้แจงหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ จัดประชุมเตรียมความพร้อมการฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกรร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จัดทำประชาคมเพื่อตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของข้อมูล เพื่อดำเนินการเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามลำดับต่อไป
ทั้งนี้ในภาพรวมพื้นที่เกษตรที่ประสบภัยทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565) คาดว่าจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 59 จังหวัด พื้นที่ 5,493,345.75 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 3,601,720.00ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,803,732.00ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 87,893.75 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบรวม 645,783 ราย
ซึ่งขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือแล้ว 53 จังหวัด รวมทั้งมีเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือจากงบประมาณส่วนท้องถิ่นแล้ว 19 จังหวัด เกษตรกร 1,812 ราย ครอบคลุมพื้นที่เสียหาย 6,287.00 ไร่
ส่วนแนวทางการฟื้นฟูพื้นที่ภาคการเกษตรที่ประสบภัย กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมการไว้ 2 แนวทางด้วยกัน คือ
1) การสนับสนุนให้เกษตรกรมีแหล่งอาหารใหม่ จึงได้มอบหมายให้กองขยายพันธุ์พืช และศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 แห่ง คือ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 1 จังหวัดชลบุรี ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรังศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5 จังหวัดบุรีรัมย์ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดมหาสารคาม ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 8 จังหวัดลำพูน ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี และศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี ระดมกำลังเจ้าหน้าที่เร่งบรรจุและจัดชุดเมล็ดพันธุ์พืชผักพันธุ์ดี
ประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์ดีหลายชนิด ได้แก่ พริก มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู และกระเจี๊ยบเขียว จำนวนรวมกว่า 3.5 แสนซอง นำไปช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้น เพื่อเป็นพืชอาหาร และพืชทดแทนในส่วนของพื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหาย และกำลังเร่งดำเนินการบรรจุและจัดชุดเพิ่มเติมอีก 2 แสนซอง เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรให้ได้มากที่สุด นอกจากชุดเมล็ดพันธุ์พืชผักแล้ว ยังมีการสนับสนุนต้นพันธุ์พืชผักพืชอาหาร และต้นพันธุ์ไม้ผลไม้ยืนต้นอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจะนำไปมอบให้เกษตรกรในพื้นที่ทันทีภายหลังน้ำลด โดยกระจายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ประสบภัยมากที่สุด
สำหรับเกษตรกรที่มีความประสงค์ขอรับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผักเพิ่มเติม สามารถแจ้งความจำนงได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่รวบรวมปริมาณและแจ้งต่อศูนย์ขยายพันธุ์พืชเพื่อดำเนินการจัดสรรต่อไป
และ 2) การสนับสนุนให้เกษตรกรมีปัจจัยการผลิตสำหรับป้องกันกำจัดโรคพืช โดยการสนับสนุนชีวภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มาที่มีทั้งในส่วนพร้อมใช้ 8,200 กิโลกรัม (สามารถใช้ได้กับพื้นที่ 8,200 ไร่) และหัวเชื้อขยาย 11,500 ขวด (สามารถใช้ได้กับพื้นที่ 172,500 ไร่) จากกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
ซึ่งเกษตรกรที่มีความประสงค์สามารถมาขอรับได้จากสำนักงานเกษตรจังหวัด และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) ทั้ง 9 ศูนย์ คือ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชัยนาท ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดขอนแก่น ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุราษฎร์ธานี และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดพิษณุโลก
โดยเกษตรกรสามารถนำไปใช้งานเพื่อควบคุมเชื้อราในดินและฟื้นฟูพืชหลังน้ำลด และหากไม่มั่นใจกับอาการของต้นพืช สามารถสอบถามปัญหาโรคพืชได้ที่คลินิกพืช ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ