นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้หรือ Fruit Board เมื่อวันที่ 27 ตค 65 ถึงการโยกย้ายนายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 (ผอ.สวพ. เขต 6) ว่าเป็นการโยกย้ายตามฤดูกาล ที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเดือนตุลาคม จนถึงปลายปี เป็นช่วงฤดูกาลปกติของการโยกย้ายราชการ ซึ่ง นายชลธี จะครบวาระ 4 ปี การโยกย้ายจึงเป็นไปตามกฎระเบียบราชการ โดยเฉพาะตามกฎระเบียบของข้าราชการพลเรือน
ทั้งนี้ตำแหน่งที่กรมมีปรับย้ายนั้น เป็นการขยับขึ้นสู่ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช (ผอ.กมพ) ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งหลักที่สำคัญของกรมวิชาการเกษตรในการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน พืช ผัก ผลไม้ และออกใบอนุญาต GAP และ GMP ทั้งประเทศ
“เป็นตำแหน่งที่จะเอื้อการทำงานให้นายชลธี ให้ได้มีบทบาท อำนาจ หน้าที่มากกว่าการเป็นผอ.สวพ.เขต 6 ที่ดูแลเพียง ไม่กี่จังหวัดในภาคตะวันออกเท่านั้น เป็นโอกาสที่จะเอาความสามารถมาเป็นลมใต้ปีกของคนในกรมวิชาการ เอาประสบการณ์ซึ่งเป็นที่ประจักษ์เรื่องทุเรียนและผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออกมาขยายผลถ่ายทอดการเรียนรู้ให้หน่วยงาน เพื่อนราชการ หรือผู้ใต้บังคับบัญชา ให้ได้รับโอกาส ได้รับไม้ต่อ สร้างระบบให้มีประสิทธิภาพและเกิดความโปร่งใสในการทำงาน เพื่อพัฒนาการทำงานด้านส่งออกผลไม้ของประเทศให้ดียิ่งขึ้นทุกภูมิภาค อีกทั้งจะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างผลงานขึ้นตำแหน่งรองอธิบดีได้ในอนาคต เพราะอายุราชการเหลือถึง 5 ปี” นาย ระพีภัทร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การที่นายชลธี รับราชการในจังหวัดจันทบุรีเพียงจังหวัดเดียว ตั้งแต่ ซี 1 – ซี 9 ติดต่อกัน รวมกันนานถึง 32 ปี โดยไม่เคยมีการย้ายออกไปรับราชการนอกจังหวัดจันทบุรีเลย จึงเกิดความรัก ความผูกพันในพื้นที่มาก
แต่ทั้งนี้การแต่งตั้งดังกล่าว จะนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับพี่น้องเกษตรกร ประชาชน และประเทศชาติหากนายชลธี นำประสบการณ์ที่ทำสำเร็จมาแล้วใน สวพ.เขต 6 นำไปขยายผลให้กับจังหวัดและภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วทั้งประเทศ เพราะทุเรียน ลำไย มังคุด ไม่ได้มีเฉพาะจันทบุรี ระยอง และตราด เท่านั้น แต่ยังมีมากในจังหวัดอื่น ๆ ทั้งในภาคเหนือ และภาคใต้
ดังนั้น หากนายชลธี ผนึกกำลังร่วมกันทำงานเป็นทีม กับนายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผอ.สวพ. เขต 6 คนใหม่ พร้อมปฏิบัติหน้าที่ใหม่ในฐานะ ผอ.กมพ. ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในการควบคุมคุณภาพมาตรฐานพืช ผัก ผลไม้ และออกใบอนุญาต GAP และ GMP ทั้งประเทศ จะทำให้พืชผัก และผลไม้ไทย ไม่ใช่เฉพาะแค่ทุเรียน ขยายศักยภาพการส่งออกได้อย่างมหาศาล และสร้างรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นให้กับพี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศ
และในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษในเหตุสำคัญ เช่น การรับรองการออกรหัสแปลง GAP ใหม่ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากทั่วประเทศในขณะนี้การขยายการตรวจรับรองมาตรฐาน GMP Plus เพื่อป้องกันโรคโควิด สำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้ในภูมิภาคต่างๆ และการเฝ้าระวังและป้องกันพืช ผัก ผลไม้ด้อยคุณภาพเช่น ปัญหา ทุเรียนอ่อน รวมถึง การลงพื้นที่ให้คำแนะนำการควบคุมดูแลคุณภาพมาตรฐานสินค้าพืช ผักและผลไม้ ทางกรมวิชาการเกษตร ก็พร้อมอนุมัติให้ลงพื้นที่ไปปฏิบัติราชการในพื้นที่นั้น ๆ ได้ทุกภูมิภาคทุกจังหวัด ซึ่งเป็นภารกิจงานหลักของ ผอ.กมพ โดยตรง
ส่วนว่าที่ ผอ สวพ. เขต 6 ท่านใหม่ คือ นาย พิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง มีความคุ้นเคยในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นอย่างดี เนื่องจาก ปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานการส่งออกสินค้าเกษตร ณ ด่านตรวจพืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ระยะเวลากว่า 20 ปี
โดยเฉพาะปฏิบัติงานควบคุม – การตรวจรับรองการส่งออกผลไม้ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร่วมกับสวพ. เขต 6 และ สวพ. เขต 7 อีกทั้งยังทำหน้าที่วิทยากรหลักของกรมวิชาการเกษตร บรรยาย “การตรวจและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับผลไม้ทั้งเปลือก(ทุเรียน, มังคุด) ส่งออก ไปประเทศจีน แก่ผู้ประกอบการส่งออกและผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคตะวันออก” ร่วมกับ สวพ. เขต 6 และภาคใต้ร่วมกับสวพ. เขต 7 มาโดยตลอด
รวมถึงยังเป็นผู้ร่วมจัดทำมาตรการตรวจและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับผลไม้(ทุเรียน) ส่งออกไปประเทศจีน ในพื้นที่ภาคตะวันออกและพื้นที่ภาคใต้ระหว่างปี 2561 – 2564
สำหรับ การดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ของนายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ได้แก่
📌ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช
📌หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
📌หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
📌หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าอากาศยานดอนเมือง
📌หัวหน้าด่านตรวจพืชสะเดา จังหวัดสงขลา
📌หัวหน้าด่านตรวจพืชอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว