กรมชลฯพร้อมรับมือน้ำหลาก “ภาคใต้”

“กรมชลประทาน” เตรียมพร้อมรับมือพายุไซโคลน ช่วงวันที่ 7-9 พฤษภาคม 2565 นี้ หลังกรมอุตุฯ เตือน“ภาคใต้” อาจมี “ฝนตกหนัก” ส่งผลให้เกิด “น้ำท่วม”ฉับพลันได้

จากการคาดการณ์ของ “กรมอุตุนิยมวิทยา” หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่าง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน และจะเคลื่อนตัวทางทิศเหนือเข้าปกคลุมอ่าวเบงกอลตอนบน ในช่วงวันที่ 7-9 พฤษภาคม 2565

ส่งผลให้ลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย อ่าวไทย และทะเลอันดามัน มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยบริเวณภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง อาจทำให้เกิด “น้ำท่วมฉับพลัน”และ “น้ำป่าไหลหลาก”ได้

280193126 376782757829668 3599346213687333859 n

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ ในช่วงวันที่ 7-9 พฤษภาคม 2565 โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักงานชลประทานที่ 14-17 เฝ้าระวังและติดตาม “สถานการณ์น้ำ” และสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และเน้นย้ำให้มีการตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน พร้อมบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม

โดยให้พิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ “น้ำหลาก” และสั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำ ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง ให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม กรมอุตุนิยมวิทยา เผยแพร่ ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง “หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่าง” ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 07 พฤษภาคม 2565 ว่า

หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่าง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน และจะเคลื่อนตัวทางทิศเหนือเข้าปกคลุมอ่าวเบงกอลตอนบนในช่วงวันที่ 7-9 พ.ค. 65 ส่งผลให้ลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย อ่าวไทย และทะเลอันดามัน มีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณ “ภาคใต้” ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในอดีตพื้นที่ภาคใต้ยังไม่ได้มีการขยายของเมืองมากเท่าปัจจุบัน ทำให้น้ำท่วมขังที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าฝนถูกระบายลงทะเลได้อย่างเร็ว แม้จะมีน้ำท่วมก็เป็นเพียงแค่ท่วมที่ระบายได้อย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างของคนไปขวางทางน้ำไหลตามธรรมชาติ เช่น หมู่บ้านจัดสรร การถมพื้นที่เพื่อเตรียมก่อสร้างทำให้ทางระบายน้ำถูกตัดขาด หรือการสร้างถนนเรียบริมทะเลที่สูงเกินก็ยิ่งทำให้ถนนมีสภาพไม่ต่างอะไรกับสันเขื่อนที่ปิดกั้นทางน้ำไหล ส่งผลให้น้ำไม่ได้รับการระบายอย่างรวดเร็วเหมือนในอดีต แม้สิ่งก่อสร้างอาจสร้างได้ถูกกฎหมาย แต่ไม่ถูกกฎของธรรมชาติ

ปัจจัยหลักคือฝน และคนสร้างสิ่งกีดขวางขวางทางน้ำไหลที่ทำให้น้ำท่วม