นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ทำให้พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ที่ประสบภัยทุกจังหวัด ได้เร่งเข้าสำรวจพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบ และเข้าให้การช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องเกษตรกรแล้วในหลายพื้นที่
โดยในวันนี้(18 ตุลาคม 2565) ในส่วนของจังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการและมอบปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นแหล่งอาหาร และฟื้นฟูพืชผล ภายหลังน้ำลด ประกอบด้วย ชุดเมล็ดพันธุ์ผัก คือเมล็ดพันธุ์กระเจี๊ยบเขียว และเมล็ดพันธุ์ถั่วพลู รวมจำนวน 1,000 ชุด ชุดต้นพันธุ์ผัก คือ ต้นกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 และต้นมะละกอฮอลแลนด์ รวมจำนวน 150 ชุด ชุดสารชีวภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มา (เชื้อสดพร้อมใช้) รวมจำนวน 32 กิโลกรัม
โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 2 จังหวัดได้รายงานผลการสำรวจเบื้องต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ตุลาคม2565) พบว่า พื้นที่เกษตรจังหวัดสิงห์บุรีได้รับผลกระทบครอบคลุมทั้ง 6 อำเภอ โดยมีพื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหายจำนวน 33,399.59 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 30,225.50 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,060 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 1,511.09 ไร่ อ้อย 603 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 4,461 ราย
ส่วนพื้นที่เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบ จำนวน 15 อำเภอ พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหายจำนวน 11,269.48 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 9,647.88 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 370.09 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 1,251.51 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 1,892 ราย
ทั้งนี้ ภาพรวมพื้นที่เกษตรทั่วประเทศได้รับผลกระทบ มีจำนวน 52 จังหวัด พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหายจำนวน 3,489,162.50 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 2,089,293.50 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,363,641.75 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 36,227.25 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 438,011 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2565)
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ยังไม่คลี่คลายแต่ได้กำชับและมอบหมายให้สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดทั่วประเทศ เร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้การดำเนินการเยียวยา ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืชภายหลังน้ำลด เป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น และเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564
ทั้งนี้ เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย มีพื้นที่เสียหายจริง อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด และช่วยเหลือไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ โดยมีอัตราดังนี้ ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่