ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังจากร่วมกับนางกาญจนา ชมมีพาณิชย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ตรวจโรงงานของผู้นำเข้าและผู้ผลิตปุ๋ยเคมีรายใหญ่ 2 รายได้แก่ บริษัทเทอราโกร เฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด และบริษัทไทยเซ็นทรัลเคมีจำกัด (มหาชน) ณ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
และร่วมกับนายวีระพงศ์ สืบค้า พาณิชย์จังหวัดปทุมธานี ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์การจำหน่ายปุ๋ยเคมีในเขต อ. สามโคก จ. ปทุมธานี ไม่พบการกักตุนหรือการกระทำผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฯ โดยปริมาณสต็อกปุ๋ยเคมี ทั้งสูตรหลักและ สูตรทางเลือก มีเต็มโกดัง รวมทั้งสองแห่งกว่า 1 แสนตัน หรือกว่า 2 ล้านกระสอบ สามารถผลิตและจำหน่ายได้ถึงต้นปีหน้า ส่วนราคาก็ได้ปรับลดลงมาเมื่อเทียบกับช่วงกลางปีที่ผ่านมา
รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งวิกฤติด้านพลังงานและการขนส่งสินค้ากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบปุ๋ยเคมีที่ไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีเกือบ 100% ปรับสูงขึ้น
อีกทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.65 ส่งผลกระทบต่อปริมาณปุ๋ยเคมีในตลาดโลก เนื่องจากรัสเซียเป็นแหล่งผลิตปุ๋ยสำคัญของโลก รวมทั้งเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 3 ของไทย
เมื่อปี 2564 จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ช่วง ม.ค.-ก.พ.65 การนำเข้าปุ๋ยของไทยลดลงประมาณ 50% กระทรวงพาณิชย์จึงได้มีหารือกับผู้นำเข้าและผู้ผลิตเพื่อหาแหล่งนำเข้าใหม่ๆ ตลอดจนปรับโครงสร้างราคาเพื่อให้มีนำเข้ามามากขึ้น
นอกจากนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังมีนโยบายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและกรมการค้าภายในเชื่อมโยงการซื้อปุ๋ยจากแหล่งผลิตสำคัญเช่น ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำคณะไปเยือนระหว่างวันที่ 27-31 ส.ค. 65 ช่วยให้มีการตกลงซื้อปุ๋ยจากบริษัทซาบิกและบริษัทมาเดนของซาอุดิอาระเบีย รวม 425,000 ตัน ทำให้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาปริมาณสต็อกปุ๋ยทั่วประเทศได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 9 แสนตัน ในช่วงสิ้นไตรมาสแรกของปี เป็น 1.4 ล้านตัน ในช่วงสิ้นไตรมาสที่ 3 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 56% จึงขอให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่าจะมีปุ๋ยใช้อย่างเพียงพอ
สำหรับราคาแม้จะยังอยู่ระดับที่สูง แต่จากปริมาณที่เพียงพอทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาระหว่างผู้ผลิตและผู้จำหน่าย และจากสถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลกที่ปรับลดลงขณะนี้ทำให้ราคาปุ๋ยเคมีในประเทศได้ปรับลดลง อาทิ ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ซึ่งเป็นสูตรที่ใช้กันมากที่สุดราคาได้ปรับลดลงมาประมาณ18-20% และปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) ซึ่งนิยมใช้ในการปลูกปาล์มน้ำมัน ราคาได้ปรับลดลงมาประมาณ 25%
อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศติดตามและกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้มีการสำรวจราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีและแจ้งมายังกรมการค้าภายในเป็นประจำทุกสัปดาห์เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการฉวยโอกาสจำหน่ายในราคาสูงเกินสมควร ซึ่งมีโทษตามกฎหมาย จำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้กรมการค้าภายในได้ประชุมหารือและติดตามสถานการณ์ร่วมกับสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร โดยขอให้สมาคมฯ ร่วมสอดส่องดูแลและกำชับไปยังตัวแทนจำหน่ายให้ขายปุ๋ยเคมีในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุน ห้ามฉวยโอกาสขายแพงเกินสมควร ทั้งนี้ หากพบการฉวยโอกาสจะถูกเพิกถอนหรือระงับการเป็นตัวแทนจำหน่าย
นอกจากนี้จะมีการเจรจากับประเทศที่เป็นแหล่งผลิตปุ๋ยเคมีต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงการซื้อปุ๋ยเพิ่มเติมอีก เช่นจีน ที่คาดว่าจะเปิดประเทศมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดต้นทุนปุ๋ยเคมีให้แก่เกษตรกรต่อไป กรณีเกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนมาที่สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด จะมีการตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่