กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจับมือ Shopee จัดแคมเปญ “สุขใจซื้อของไทย” นำสินค้าจากเกษตรกร สหกรณ์ ผู้ประกอบการชุมชนกว่า 400 ร้านค้า รวมกว่า 4,000 รายการ มาจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม พร้อมแจกส่วนลดสูงสุด 20% ตั้งแต่วันนี้ถึง 10 ต.ค.65 มั่นใจช่วยส่งเสริมให้เกษตรกร ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น สินค้าเกษตร สินค้าชุมชน เปิดตัวสู่ตลาดได้มากขึ้น
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับ Shopee จัดแคมเปญลดราคาสินค้าเพื่อสนับสนุนเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์และผู้ประกอบการ เป็นสินค้าที่ได้รับการส่งเสริมจากกรมฯกว่า 400 ร้านค้า รวมสินค้ามากกว่า 4,000 รายการ เช่น มะพร้าวแก้ว หมี่โคราช น้ำพริกกุ้งเสียบ คุกกี้สิงคโปร์ กล้วยตาก สัปปะรดกวน น้ำหวานดอกมะพร้าวอินทรีย์ ชาผักเชียงดา ยาสีฟันกระชายขาว หอยจ๊อปู ไข่เค็มสมุนไพร เป็นต้น โดยสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ที่แอปพลิเคชัน Shopee แล้วพิมพ์คำว่า “สุขใจซื้อของไทย” หรือ “DBD Online” ในช่องค้นหา หรือสามารถเข้าที่ลิ้ง https://shopee.co.th/dbdonline และพิเศษสุดมอบโปรโมชันส่วนลดราคาสินค้าสูงสุดถึง 20% เพียงกรอก Code “DBD20” ตั้งแต่วันนี้ถึง 10 ต.ค.2565
“กรมฯ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกท่าน เข้าไปเลือกซื้อสินค้าได้ที่แอปพลิเคชัน Shopee กันเยอะ ๆ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไทยของเราให้มีกำลังใจในการผลิตสินค้าดี มีคุณภาพป้อนตลาดอย่างต่อเนื่อง และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการชุมชนจากทั่วประเทศ”นายทศพลกล่าว
สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ ส่งเสริมและผลักดันสินค้าชุมชนเข้าสู่ช่องทางออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซมากขึ้น
ซึ่งกรมฯ ได้ร่วมกับ Shopee ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ได้ลงนาม MOU ร่วมกันเมื่อปี 2562 ซึ่งแต่ละกิจกรรมที่ร่วมดำเนินการ ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมูลค่าทางการค้า พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยความเข้มแข็ง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งยกระดับผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล เป็นการเพิ่มรายได้ให้คนในท้องถิ่น
รวมทั้งช่วยประชาชนประหยัดเงินในกระเป๋า และยังสามารถเลือกซื้อสินค้าชุมชนคุณภาพดีได้โดยตรง สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ประกอบกับยังช่วยให้ผู้ประกอบการชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่นสามารถขยายช่องทางการจำหน่ายไปสู่โลกออนไลน์ได้อีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในอดีตการขายสินค้าของเกษตรกรจะมีอยู่ไม่กี่ช่องทาง ช่องทางหลักคือ การขายทางตรง โดยตัวเกษตรกรเองขายสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรง มีข้อดีคือ เกษตรกรสามารถสื่อสารและแบ่งปันเรื่องราวของตัวสินค้าให้กับลูกค้าได้โดยตรง และอีกช่องทางคือ การขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลางและการฝากขาย มีข้อดีคือ สามารถกระจายสินค้าได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อเสียคือ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถกำหนดราคาขายของตนเองได้ รวมถึงไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของสินค้าตัวเองได้มากนัก บางรายไม่สามารถโปรโมตสินค้าของตนเองได้เลย
ในปัจจุบันจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เกษตรกรเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาตลาดออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากในหลายพื้นที่ไม่สามารถทำการค้าขายแบบปกติหรือตลาดออฟไลน์ได้ ข้อดีของตลาดออนไลน์คือ เป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ตัวเกษตรกรเองสามารถขายสินค้าได้หลากหลายช่องทางมากยิ่งขึ้น