รมช.มนัญญา มอบนโยบายปี 2566 เดินหน้าพัฒนาสหกรณ์ ฟื้นฟู เสริมสร้าง กระจายความเข้มแข็งสู่เกษตรกร เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในโอกาสครบรอบ 50 ปี วันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงานสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ และมอบนโยบายในการทำงานเพื่อพัฒนาสหกรณ์และการขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรกรมส่งเสริมสหกรณ์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมให้การต้อนรับ ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ ถนนกรุงเกษม กรุงเทพมหานคร ว่า ตามที่ได้ให้นโยบายในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี จึงได้กำหนดนโยบายต่าง ๆ ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์นำไปแนะนำส่งเสริมเกษตรกร เช่น การสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ตามโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพการเกษตร ตลอดจนโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ต ส่งผลให้เกิดความร่วมมือระหว่างสหกรณ์และเกิดการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกัน ขยายโอกาสทางการตลาดสินค้าของสหกรณ์ผู้ผลิตผ่านร้านสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการฯ และการส่งเสริมอาชีพสมาชิกสหกรณ์ รวมทั้ง การสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกรและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ เชื่อมโยงไปถึงผู้ประกอบการ ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาด้านการผลิตและด้านการตลาดสินค้าเกษตร สนับสนุนการขยายเครือข่ายธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ เพื่อยกระดับการพัฒนาเกษตรกรไปสู่การเป็นผู้ประกอบอาชีพการเกษตรที่มีความเข้มแข็งต่อไป
“การมอบนโยบายสำหรับปี 2566 นั้น ได้เน้นย้ำให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ นำนโยบายเดิมที่เคยดำเนินการเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา กลับมาทบทวน ฟื้นฟู และเสริมสร้างความเข้มแข็ง โดยให้พิจารณาว่านโยบายในเรื่องใดที่มีความก้าวหน้า สามารถนำมาต่อยอดได้อย่างไรบ้าง ส่วนนโยบายที่ประสบปัญหาหรืออุปสรรค ก็ขอให้นำมาพิจารณาแก้ไข ปรับปรุง และสร้างความเข้มแข็งให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืนต่อไป” รมช.มนัญญา กล่าว
ทั้งนี้ ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ส่งผลทำให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง ซึ่งจากการจัดระดับชั้นสหกรณ์ มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้ว 4,694 แห่ง และยกระดับเป็นสหกรณ์ชั้น 1 ถึง 1,953 แห่ง มีทุนดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มูลค่า 3.56 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.47 หมื่นล้านบาท มีปริมาณธุรกิจสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มูลค่า 2.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.85 หมื่นล้านบาท ในส่วนของโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2565 มีผู้ที่สนใจกว่า 6,000 คน กรมได้คัดเลือกผู้ที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการกว่า 3,670 คน และมีสหกรณ์สมัครเข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงเกษตรกรรุ่นใหม่ในโครงการกว่า 700 แห่ง ในปี 2565 ได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่อีกประมาณ 850 คน ในส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 ปัจจุบันมีสหกรณ์ดำเนินธุรกิจซูเปอร์มาเก็ตสหกรณ์จำนวน 171 แห่ง ใน 64 จังหวัด ยอดจำหน่ายสินค้าผ่านซูเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ทั่วประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – สิงหาคม 2565 มียอดจำหน่ายถึง 331,018,926 บาท ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดและยกระดับสินค้าคุณภาพของเครือข่ายสหกรณ์ผู้ผลิตสินค้า 333 แห่ง ได้มีโอกาสนำสินค้าและผลผลิตของเกษตรกรมาจำหน่ายผ่านซูเปอร์มาเก็ตสหกรณ์
โอกาสนี้ รมช.มนัญญา ได้อ่านสารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมส่งเสริมสหกรณ์ ครอบรอบ 50 ปี พร้อมมอบรางวัลเลิศรัฐ รางวัลพัฒนาการบริการ สาขาบริการภาครัฐ รางวัลสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม และรางวัลร่วมใจแก้จน สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ให้กับผู้แทนสำนักงานสหกรณ์จังหวัดที่ได้รับรางวัล พร้อมกล่าวแสดงความยินดี
สำหรับกรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2515 มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน แนะนำ กำกับ และดูแลระบบสหกรณ์ของประเทศไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ “การสหกรณ์มั่นคง สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้มแข็ง เศรษฐกิจและสังคมของชุมชนยั่งยืน” ปัจจุบันประเทศไทย มีจำนวนสหกรณ์ 7 ประเภท ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนและสหกรณ์ออมทรัพย์ รวม 7,668 แห่งทั่วประเทศ สมาชิกรวม 11.36 ล้านคน แบ่งเป็น สหกรณ์ในภาคเกษตร 3,506 แห่ง สมาชิก 6.3 ล้านคน สหกรณ์นอกภาคเกษตร 4,184 แห่ง สมาชิก 5.037 ล้านคน มีปริมาณธุรกิจในระบบสหกรณ์รวมกว่า 2,122 ล้านล้านบาท และมีกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในการกำกับดูแลอีก 4,239 แห่ง สมาชิก 3.9 แสนคน ปริมาณธุรกิจกว่า 7,491 ล้านล้านบาท