รัฐบาลผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคการเกษตรในระยะยาว สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบายให้ความสำคัญกับพี่น้องเกษตรกร โดยเน้นการทำงานที่ให้ยึด 5 ประเด็นยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ในการแก้ไขจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งให้เอื้อต่อการพัฒนาภาคการเกษตรในระยะยาว เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน” โดยมีแนวทางไปสู่เป้าหมาย คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร
ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร
ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 4 บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ
และเดินหน้าให้ความสำคัญกับนโยบาย 15 เรื่อง เช่น เน้นหลักตลาดนำการผลิต การพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางเป้าหมายในการทำงานรองรับความปกติใหม่ (New Normal) และสร้างเอกภาพในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวง
รวมถึงการพัฒนากำลังคนในภาคการเกษตร พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย Young Smart Farmer เพิ่มบทบาทของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือน และการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของชุมชน รวมทั้งการพัฒนาอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ซึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานที่สำคัญในพื้นที่
รัฐบาลดำเนินงานด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ วางนโยบายแบบพุ่งเป้ามองไปข้างหน้า ตามความเหมาะสมจากการประเมินจากสถานการณ์โลก โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมให้การช่วยเหลือเกษตรกรไทย เน้นการทำงานแบบสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกส่วน นายอนุชาฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ภาคการเกษตรของไทยยังคงประสบปัญหามากมาย เช่น ราคาผลผลิตที่ขาดเสถียรภาพ การใช้ปัจจัยการผลิตที่ไม่เหมาะสม ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและปัญหาหนี้สินครัวเรือนเกษตรกรที่ยังอยู่ระดับสูง แม้ว่ารัฐบาลจะได้กำหนดแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือต่าง ๆ มาโดยตลอด แต่ส่วนใหญ่เป็นแผนระยะสั้นที่ขาดความต่อเนื่องและการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า
ดังนั้นเพื่อเป็นการวางรากฐานการพัฒนาในระยะยาวอันจะนำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579)เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานในการพัฒนาภาคการเกษตรให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนปฏิรูปของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาในระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ