นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายมะซึโมโตะ มาซาโอะ(Mr.Matsumoto Masao)ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงร่วมหารือและชี้แจงเกี่ยวกับกรอบดำเนินงานความร่วมมือตามแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการผลิตทางการเกษตรและระบบอาหารที่ยั่งยืน (Joint Statement on Sustainable Agricultural Production and Food System )
โดยมีผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมเปิดเผยภายหลังการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับเจ้าหน้าที่อาวุโสของจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี (SOM-AMAF Plus Three) ครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 23 – 24 สิงหาคม 2565
โดย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดให้นายสมชวน รัตนมังคลานนท์รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือเพิ่มเติมกับนายมะซึโมโตะ มาซาโอะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ต่อความร่วมมือของฝ่ายญี่ปุ่นกับประเทศสมาชิกอาเซียน (Japan’s proposal of its cooperation for ASEAN Member States) ในการปฏิรูประบบเกษตรและอาหาร ที่มีการนำเสนอในที่ประชุมดังกล่าว
สำหรับการหารือในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อแนวทางการเสริมสร้างการปฏิรูประบบเกษตรและอาหารของภูมิภาคอาเซียน ภายใต้ความร่วมมือด้านการเกษตรและระบบอาหารที่ยั่งยืนระหว่างญี่ปุ่น-อาเซียน ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ อาทิ การเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและการพัฒนาระบบอาหารที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและมีความยั่งยืน การส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะและเกษตรดิจิทัล และการส่งเสริมการทำการเกษตรที่ลดปัญหาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาบ BCG ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยุทธศาสตร์ด้านระบบอาหารยั่งยืนของญี่ปุ่น (MeaDRI)
นายสมชวนฯกล่าวว่า ในปี 2566 อาเซียน-ญี่ปุ่น จะเฉลิมฉลองการครบรอบความสัมพันธ์ 50 ปี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น มีดำริที่จะยกระดับความร่วมมือด้านการเกษตรกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะกับประเทศไทย ผ่านโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ได้แก่โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน และโครงการเสริมสร้างการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งนายมะซึโมโตะฯ ได้ขอให้ฝ่ายไทยผลักดันความร่วมมือดังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้กับรัฐมนตรีของจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลีครั้งที่ 22 (22ndAMAF Plus Three)ที่จะจัดขึ้นในปี 2566
นอกจากนี้ ข้อเสนอความร่วมมือของฝ่ายญี่ปุ่นเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานด้านการพลิกโฉมระบบเกษตรและอาหารของไทยเป็นอย่างมากอย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นที่จะต้องหารือและศึกษารายละเอียดเนื้อหาของข้อเสนอของฝ่ายญี่ปุ่นให้ถี่ถ้วนต่อไป