ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน เปิดเผยวันนี้(20 ก.ย)ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล 7,255 ตำบลใน76จังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานอพก.จังหวัดได้ดำเนินการร่วมกับเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลแล้ว
นอกจากนี้ยังได้รับรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการนี้จากนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนว่าได้เริ่มการประชุมชี้แจงแนวทางการบริหารและการขับเคลื่อนคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีที่ศูนย์ AIC มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเป็นจังหวัดแรก ถือเป็นการคิกออฟโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลซึ่งเป็นกลไกการปฏิรูปภาคเกษตรครั้งสำคัญของประเทศ
ทางด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อสร้างการรับรู้และมอบนโยบาย แนวทางการขับเคลื่อนโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลของจังหวัดเพชรบุรี ณ ห้องประชุมคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีและรูปแบบออนไลน์ผ่าน Zoom Cloud Meeting
โดยมีนายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ดร.วนิดา มากศิริ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผู้อำนวยการศูนย์AICจังหวัดเพชรบุรี เกษตรจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด สภาเกษตรกรแห่งชาติ นายอำเภอ เกษตรอำเภอ นายกและสมาชิกอบต. กำนันผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครเกษตร ศพก. เกษตรกรรุ่นใหม่ (young smart farmer )เกษตรปราดเปรื่องวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เกษตรแปลงใหญ่ กลุ่มแม่บ้านเกษตร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอี. ทีมงานเพชรบุรีโมเดล หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคเกษตรกรเข้าร่วมประชุม โดยมีนางสาวศิริวรรณ เครือเล็ก เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี เป็นฝ่ายเลขานุการ
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกของการขับเคลื่อนคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลครอบคลุม 7,255 ตำบล ใน878 อำเภอและ 76 จังหวัด เป็นครั้งแรกของประเทศควบคู่กับโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองเพื่อสร้างฐานใหม่ที่เข้มแข็งในการยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอันดับท็อปเทนของโลกในฐานะมหาอำนาจทางอาหารและครัวของโลกตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ จากปัจจุบันอยู่ในอันดับ13ของโลก โดยจัดประชุมสร้างการรับรู้แนวทางการบริหารจัดการคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนที่เพชรบุรีเป็นจังหวัดแรก
ภายใต้แนวคิด “บริหารโดยชุมชน เป็นของชุมชน และเพื่อชุมชน” ซึ่งเป็นกลไกปฏิรูปภาคการเกษตรเพื่อสร้างศักยภาพใหม่ในระดับฐานรากเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรและชุมชนตำบลหมู่บ้านและแก้ปัญหาหนี้สิน ความยากจนและลดความเลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนภายใต้เกษตรกรรมยั่งยืน 5 สาขา คือ เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรผสมผสาน
มีภารกิจ 2 ประการ คือ เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)และพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานครด้วยการยกระดับภาคเกษตรกรรมสู่เกษตรมูลค่าสูง
นายอลงกรณ์กล่าวว่า คณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลประกอบด้วย ปลัดอำเภอ เกษตรตำบล อบต. ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนประชาสังคมและอาสาสมัครเกษตร (อกษ.) เป็นแกนหลักร่วมกับตัวแทนภาคเอกชน ภาคเอกชน และภาควิชาการ ในหมู่บ้านตำบลเชื่อมโยงกับคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรระดับอำเภอ (SCD)และคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรระดับจังหวัด (SCP)และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในแต่ละจังหวัด
โดยคณะกรรมการเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลมีหน้าที่จัดทำและขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรแบบยั่งยืนระดับตำบลภายใต้แพลตฟอร์มการพัฒนาหลากหลายรูปแบบ เช่น 1ตำบล 1โครงการชลประทานชุมชน 1ตำบล1โครงการเกษตรอินทรีย์ 1ตำบล 1ศูนย์บริการจัดการดิน-ปุ๋ยชุมชน 1ตำบล 1 ร้านค้าเกษตรปลอดภัยอาหารปลอดภัย(Green Shop) 1 ตำบล 1 ตลาดออนไลน์ 1 ตำบล 1 สตาร์ทอัพเกษตร 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์แชมเปี้ยน(product champion) 1 ตำบล 1 ธนาคารต้นไม้ (ผลิตและจำหน่ายต้นกล้า) 1 ตำบล 1 เกษตรแปลงใหญ่ 1 ตำบล 1 ฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) 1 ตำบล1 แบรนด์ผลิตภัณฑ์ 1 ตำบล 1 เครือข่ายศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.)
1 ตำบล 1 เครือข่ายศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(ศูนย์AIC) 1 ตำบล 1 องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น(ประมงทะเลหรือประมงน้ำจืด) 1 ตำบล 1 กลุ่มประมง 1 กลุ่มปศุสัตว์ 1 กลุ่มเกษตรพลังงาน 1 เกษตรสุขภาพ 1 เกษตรท่องเที่ยว 1โครงการอาหารแห่งอนาคต (แมลง ผำ สาหร่าย แหนแดง) 1 โรงเรียนสีเขียว( Green School ) 1 วัดสีเขียว(Green Temple) และศูนย์ความรู้เกษตร(Agriculture Knowledge Center) เป็นต้น เพื่อปักหลักวางหมุดหมายการพัฒนาแบบยั่งยืนลงไปถึงระดับชุมชนหมู่บ้าน
ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของ รมว.เกษตรฯ ได้แก่ ตลาดนำการผลิต-เทคโนโลยีเกษตร4.0-เกษตรปลอดภัย-เกษตรยั่งยืน-เกษตรมั่นคง การบูรณาการทำงานเชิงรุกทุกภาคส่วนและเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่
นายอลงกรณ์ได้มอบแนวทางในการบริหารโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล จังหวัดเพชรบุรีในระยะตั้งต้นไว้ 6 ประเด็น ดังนี้
1. จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล โดยอบต. จัดสถานที่มีเจ้าหน้าที่ของอบต. ที่ทำหน้าที่กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการ เป็นผู้ดูแลและมีอาสาสมัครที่สรรหาในตำบลช่วยปฏิบัติงาน
2. จัดให้มีสภากาแฟเกษตรกรรมยั่งยืนประชุมเดือนละครั้งเป็นเวทีปรึกษาหารือไม่เป็นทางการ
3. คณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลควรประชุมเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วง 6 เดือนแรก จากนั้นประชุมทุก 2 เดือน
4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนก่อนหมดหน้าที่
5. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน
6. การจัดทำระบบฐานข้อมูล
ซึ่งหวังว่า กลไกนี้จะเป็นแนวทางการขับเคลื่อนที่สามารถยกระดับอัพเกรดให้แก่ภาคการเกษตรได้อย่างยั่งยืน
ทางด้าน นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้กล่าวเสริมว่าจังหวัดเพชรบุรี พร้อมสานต่อนโยบายขับเคลื่อนเมืองเสบียงแห่งอาหาร สู่โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ระดับตำบล เน้นประโยชน์ของพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งแต่ละตำบลดูจุดแข็งของตำบลทั้งด้าน ปศุสัตว์ ประมง พืช สมุนไพร ผลไม้ รวมทั้งให้ความสำคัญด้านชลประทานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะดำเนินการทั้งในระดับจังหวัด หรือเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัด ที่ต้องทำงานร่วมกันเพิ่มศักยภาพพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ที่จะขับเคลื่อนร่วมกันโดยสามารถเสนอโครงการและแผนงานจากงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดได้