วันที่ 14 ก.ย.65 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ยังไม่มีแผนผันน้ำเข้าพื้นที่ทุ่งนา 10 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา โดยยืนยันว่ายังสามารถบริหารจัดการน้ำเหนือในแม่น้ำเจ้าพระยา ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,800-2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เร่งระบายลงทะเลได้โดยเร็ว ซึ่งได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการ 11 จังหวัดในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง เช่น อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ให้แจ้งเตือนทุกภาคส่วนที่อยู่อาศัย ประกอบกิจการ ริมแม่น้ำสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมรับสถานการณ์น้ำเพิ่มขึ้น
“ยืนยันว่ายังไม่มีการผันน้ำเข้าทุ่งนาภาคกลาง เพื่อช่วยดูแลชาวนาไม่ให้ได้รับความเสียหาย ขณะนี้ได้เร่งเข้าช่วยเหลือนำเครื่องสูบน้ำไปให้กับพื้นที่ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งสองพี่น้อง สูบน้ำออกจากนาข้าวเกิดน้ำท่วมนาข้าวจากฝนตกหนัก ผมประสานกับพื้นที่ตลอดเวลา รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆ เพื่อเข้าไปดูแลพื้นที่ได้ทันเหตุการณ์ เมื่อชาวนาปลูกข้าวแล้วจะต้องได้เก็บเกี่ยวทั้งหมด โดยชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวให้แล้วเสร็จซึ่งจะไม่เกินปลายเดือนนี้ สำหรับสถานการณ์ฝนที่เพิ่มมากขึ้นช่วงนี้ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ทุกพื้นที่ทำงาน 24 ชั่วโมง พร้อมเครื่องมือเครื่องจักรกล ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าช่วยเหลือประชาชนทันท่วงที “นายประพิศ กล่าว
ระดมเครื่องสูบน้ำติดตั้งเพิ่มเติมที่สถานีสูบน้ำท่าถั่ว จ.ฉะเชิงเทรา เร่งระบายน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ ออกสู่แม่น้ำบางปะกงและทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด ลดผลกระทบน้ำท่วมในเขต กทม.ฝั่งตะวันออก พร้อมรองรับน้ำฝนที่จะตกลงมาอีก
อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยต่อว่า ได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต เร่งเปิดทางน้ำให้กว้างขึ้น บริเวณสถานีสูบน้ำท่าถั่ว จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดรโฟล (Hydro Flow) จำนวน 4 เครื่อง ตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ 13 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำได้ภายในวันนี้ (14 ก.ย. 65) เพื่อเสริมการระบายน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ บริเวณประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำท่าถั่ว ให้ระบายลงสู่แม่น้ำบางปะกง และทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ ยังได้ขุดลอกตะกอนดินบริเวณด้านเหนือของสถานีสูบน้ำท่าถั่วให้กว้างและลึกขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากขึ้น พร้อมกับติดตั้งบาน Bulkhead Gate ที่ประตูน้ำ เพื่อเสริมความแข็งแรงอีกชั้นหนึ่ง เตรียมรองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาสมทบอีกในระยะต่อไป
ทั้งนี้ การเร่งระบายน้ำดังกล่าว จะทำให้ระดับน้ำในคลองประเวศฯ บริเวณที่ไหลผ่านเขตลาดกระบังลดต่ำลง ซึ่งจะทำให้น้ำที่ท่วมขังอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำเขตลาดกระบังและพื้นที่ใกล้เคียง ไหลลงสู่คลองประเวศฯได้สะดวกมากขึ้น ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวกทม.ฝั่งตะวันออก ที่กำลังประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา สถานี C.2 ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,956 ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยา สถานี C.13 ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,848 ลบ.ม./วินาที รับน้ำเข้าระบบส่งน้ำทุ่งฝั่งตะวันออก รวม 72 ลบ.ม./วินาที โดยผ่าน คลองชัยนาทป่าสัก 50 ลบ.ม./วินาที คลองชัยนาท-อยุธยา 20 ลบ.ม./วินาทีและคลองเล็กอื่น ๆ 2 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำป่าสัก เขื่อนพระรามหก 510 ลบ.ม./วินาที รับน้ำเข้าคลอง ระพีพัฒน์ 18 ลบ.ม./วินาที ผ่านคลองระพีพัฒน์แยกตก 4 ลบ.ม./วินาทีและผ่านคลองระพีพัฒน์แยกใต้ 4 ลบ.ม./วินาที รับน้ำเข้าระบบส่งน้ำทุ่งฝั่งตะวันตก รวม 97 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 94 ลบ.ม./วินาที) โดยผ่านคลอง มะขามเฒ่าอู่ทอง (ปตร.มะขามเฒ่า-อู่ทอง) ปิด แม่น้ำสุพรรณ (ปตร.พลเทพ) 20 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำน้อย 35 ลบ.ม./วินาทีและคลองเล็กอื่น ๆ 42 ลบ.ม./วินาที ส่วน อ.บางไทร สถานี C.29A ปริมาณน้ำ ไหลผ่านเฉลี่ย 2,460 ลบ.ม./วินาที