นายสาธิต วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ และนายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวว่าได้รับมอบหมายจากพรรคประชาธิปัตย์ให้แถลงมติของพรรคฯ ซึ่งเกิดจากการประชุมพรรคฯ เมื่อวานนี้ (13 ก.ย. 65) โดยได้มีการพิจารณาระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยประเด็นที่สำคัญ คือมีการพิจารณาเรื่องร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …. ซึ่งคณะ กมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว และกำลังจะเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (14 ก.ย. 65)
โดยที่ประชุมพรรคฯ ได้ร่วมอภิปรายกันอย่างกว้างขวางและ ส.ส.หลายคนจากหลากหลายพื้นที่ได้แสดงความวิตกกังวลจากสถานการณ์ของการประกาศให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางพรรคฯ ได้รับการประสานและให้ข้อมูลจากวงการแพทย์ซึ่งล่าสุดศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภูมิภาค โดยแสดงความวิตกกังวลต่อเรื่องร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวว่าจะเกิดผลกระทบต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน
อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาภายหลังมีการประกาศปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดแล้ว มีสถานการณ์ที่มีผลกระทบจากผู้เสพยาเสพติดจนกระทั่งป่วยถึงจิตเวชได้ทำร้ายพี่น้องประชาชนในหลายพื้นที่ ทำให้พ่อแม่ ครู อาจารย์หรือองค์การศึกษาต่าง ๆ มีความวิตกกังวล
ทั้งนี้ พรรคฯ จึงได้มีการพิจารณาถึงเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งแต่เดิมแม้ว่าพรรคฯ จะมีมติเห็นด้วยกับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ฉบับของรัฐบาล ซึ่งคาดหวังว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนั้น จะมีบทบัญญัติที่เข้มแข็งในการควบคุม ส่งเสริมหรือสนับสนุนในเรื่องกัญชา กัญชง โดยเป็นไปในลักษณะที่ให้การเสพกัญชานั้นเป็นไปเพื่อวงการแพทย์หรือใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาของกฎหมายทั้งหมดแล้วเห็นว่ายังมีความหละหลวมอยู่มาก และยังมีประเด็นที่มีความวิตกกังวลอีกหลายประเด็น อาทิ
1.ยังมีลักษณะเป็นการกำหนดให้เป็นกฎหมายที่ส่งเสริม สนับสนุนเรื่องของการปลูกกัญชา
- ยังอนุญาตให้บุคคลทั่วไปสามารถจดแจ้งปลูกกัญชาได้ ซึ่งเรื่องนี้ทางพรรคฯ ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แต่อาจเป็นเรื่องของการเสพเพื่อนันทนาการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสังคมในระยะยาว
ดังนั้น พรรคฯ จึงมีมติร่วมกันใน 2 เรื่อง คือ
- ขอให้รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขทบทวนประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด เพื่อกำหนดให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด
- เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังมีความหละหลวมและยังมีประเด็นที่อาจทำให้เกิดการเสพกัญชาเพื่อนันทนาการมากกว่าทางการแพทย์หรือส่งเสริมไปในทางอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรม
จึงขอให้คณะ กมธ.ถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปจากสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนำกลับไปทบทวนใหม่ ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ทบทวนเรื่องประกาศกระทรวงแล้ว กฎหมายฉบับนี้อาจต้องมีการทบทวนเพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของกระทรวงฯ อาทิ อาจพิจารณาปรับแก้ไขให้เหลือแต่เรื่องของกัญชง ส่วนยาเสพติดที่เป็นกัญชานั้น ควรให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น
ซึ่งในวันนี้ภายหลังจากแถลงข่าวแล้วหากกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกของพรรคฯ ก็จะขออภิปรายแสดงความคิดเห็นและแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าพรรคฯ มีท่าทีต่อร่าง พ.ร.บ.นี้อย่างไร ส่วนในทางปฏิบัตินั้น เมื่อทางพรรคฯ ได้มีมติแล้วได้มอบหมายให้วิปของพรรคฯ แจ้งให้วิปรัฐบาลได้ทราบถึงท่าทีของพรรคฯ ต่อเรื่องดังกล่าว โดยเรื่องที่พรรคฯ ตัดสินใจมีมติและดำเนินการไปนั้นเป็นการรับฟังเสียงของประชาชน วงการแพทย์ วงการสาธารณสุข ตลอดจนพี่น้องประชาชนที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กและเยาวชน
ซึ่งประเด็นเรื่องนี้เป็นประเด็นเรื่องหลักการ ไม่ใช่ประเด็นทางการเมืองแต่อย่างใด และหวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพรรคการเมืองที่สนับสนุนในเรื่องนี้อยู่ จะเข้าใจประเด็นเรื่องผลกระทบทางสังคม และเข้าใจประเด็นที่พรรคฯ ได้มีมติเคารพเสียงของพี่น้องประชาชนด้วย