กรมหม่อนไหมยกระดับการผลิตสินค้าหม่อนไหมเพื่อเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) โดยวิจัยและพัฒนาการใช้ทรัพยากรชีวภาพ พัฒนาและส่งเสริมกระบวนการผลิตตลอดทั้งห่วงโซ่ และสนับสนุนให้มีช่องทางตลาดในต่างประเทศ
นายศรัญญู พูลลาภ รองอธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในหลายบริบท ทำให้ภาคการผลิตทางการเกษตรต้องมีการพัฒนาและยกระดับสินค้าเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยมุ่งเน้นการขยายห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของการผลิตสินค้าให้กว้างและหลากหลายมากขึ้น จากที่เคยเป็นเพียงการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตขั้นสูง ต้องพัฒนาและยกระดับให้เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป จากผลิตภัณฑ์แปรรูป ก็จะต้องพัฒนาให้เป็นการแปรรูปขั้นสูงหรือในระดับอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาและยกระดับสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าตามแนวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (BCG Model)
ทั้งนี้ กรมหม่อนไหมได้มีการขับเคลื่อนพัฒนาและยกระดับสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าหม่อนไหมตามแนวทาง BCG Model มีแนวทางการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ได้แก่ วิจัยและพัฒนาการใช้ทรัพยากรชีวภาพ เช่น พันธุ์พืช ปัจจัยการผลิต ให้มีคุณภาพเหมาะสมกับกระบวนการผลิตของสินค้าแต่ละชนิด รวมทั้งต่อยอดงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าโดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมด้านไบโอเทคโนโลยี(Biotechnology)หรือเทคโนโลยีชีวภาพ เข้ามาช่วยในกระบวนการวิจัยและพัฒนาขั้นสูง พัฒนาและส่งเสริมกระบวนการผลิตตลอดทั้งห่วงโซ่
รวมถึงการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูหม่อนไหม โดยมีงานวิจัยรองรับ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเร่งส่งเสริมการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานและมูลค่าสูงและพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับตลาดเป้าหมาย ตอบโจทย์สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly)
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้มีช่องทางตลาดในต่างประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการ เข้าร่วมการจัดแสดงสินค้าในประเทศต่าง ๆ ร่วมกัน และจัดศูนย์แสดงสินค้าระดับภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมตลาดยุคใหม่ผ่านแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ตลอดจนต่อยอดนำผลิตภัณฑ์แปรรูปขั้นสูงเข้าสู่การเชื่อมโยงตลาดเฉพาะ อาทิ สถาบันเสริมความงาม โรงพยาบาล อุตสาหกรรม ตลาดสินค้าแมลงในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไหม คือ เส้นใยจากรังไหมผีเสื้อชนิด Bombyx mori ในวงศ์ Bombycidae ผีเสื้อชนิดนี้อ้วนป้อม มีขนขาวและสีครีมคลุมเต็มตัว ปีกมีลายเส้นสีน้ำตาลอ่อนหลายเส้นพาดตามแนวขวาง เมื่ออยู่ในช่วงวัยอ่อนจะเป็นตัวหนอนสีขาวหรือครีม มีรยางค์เล็ก ๆ สั้น ๆ คล้ายขาที่ปลายหาง หนอนไหมที่เลี้ยงกันในประเทศไทยกินใบหม่อนเป็นอาหาร เมื่อหนอนโตเต็มที่จะถักใยหุ้มดักแด้เพื่อฟักตัวเป็นผีเสื้อ ในช่วงนี้เองที่เรานำมาต้มเพื่อสาวเส้นใยออกมาทอเป็นผืนผ้าได้
ไหม เป็นแมลงที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (completely metamorphosis insect) แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และผีเสื้อ วงจรชีวิตไหมจะเริ่มต้นจากไข่ ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 9-10 วัน กลายเป็นหนอนไหม ในระยะนี้หนอนไหมจะกินใบหม่อนเป็นอาหาร และนอนประมาณ 4-5 ช่วง ใช้เวลาประมาณ 22-26 วัน พอหนอนไหมแก่ หรือสุกจะชักใยทำรังหุ้มตัวเอง ตัวไหมจะลอกคราบเป็นตัวดักแด้อยู่ในรัง ช่วงเป็นรังไหมใช้เวลาประมาณ 8-10 วัน จากนั้นดักแด้ก็จะกลายเป็นผีเสื้อ ผีเสื้อไหมจะใช้น้ำลายซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่างละลายใยไหม และเจาะรังไหมออกมาผสมพันธุ์และวางไข่ โดยจะมีชีวิตอยู่ในช่วงนี้ประมาณ 2-3 วัน ก็จะตาย