(วันที่ 9 กันยายน 2565) นางสาวนฤมล สงวนวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการวิชาการศูนย์พัฒนาชนบทแบบบูรณาการสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (CIRDAP หรือThe Centre on Integrated Rural Development for Asia and the Pacific) ครั้งที่ 37 (The Thirty Seventh Meeting of CIRDAP Technical Committee (TC-37) ) ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
โดยมีผู้แทนระดับอธิบดีและรองอธิบดีจาก 13 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถานเนปาล อิหร่าน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ และฟิจิ เข้าร่วมงานดังกล่าว
ซึ่งในช่วงเช้าได้มีการประชุมร่วมกันในวันแรก และเป็นการประชุมแบบ On-site ครั้งแรกในปีนี้ หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการประชุมได้มีการหารือและติดตามสถานะผลการดำเนินงานตามข้อมติของการประชุม CIRDAP ที่ผ่านมา รวมถึงการให้คำแนะนำในเชิงเทคนิคเพื่อสนับสนุนกิจกรรมและโครงการตามวิสัยทัศน์ของ CIRDAP ที่มุ่งเน้นการให้การสนับสนุนด้านเทคนิคและส่งเสริมแนวปฏิบัตินวัตกรรมที่ดีด้านการพัฒนาชนบทแบบผสมผสานที่ยั่งยืนในประเทศสมาชิก เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชนบท ซึ่งประเทศไทยได้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพในการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศสมาชิก CIRDAP และผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ
ในโอกาสนี้ ดร.เชิดศักดิ์ วีระพัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ CIRDAP ได้มอบรางวัล Aziz-UI Haq Rural Development ให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้นางสาวนฤมล สงวนวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรับรางวัลดังกล่าว
ซึ่งรางวัลนี้มอบให้แก่บุคคลหรือหน่วยงานที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในด้านการพัฒนาชนบท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความยากจน และเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของชาวชนบทในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และมีบทบาทในการพัฒนาองค์กร CIRDAP โดยมี ดร. สมพร หาญพงศ์พันธ์ อดีตรองผู้อำนวยการใหญ่ (พ.ศ. 2529 – 2533) และผู้อำนวยการใหญ่ CIRDAP (พ.ศ. 2535 – 2539) เข้ารับรางรางวัล
ซึ่งที่ผ่านมามีบุคคลสำคัญและองค์กรที่ได้รับรางวัลนี้ ได้แก่ H.E. Sheikh Hasina นายกรัฐมนตรีบังคลาเทศ และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) นอกจากนี้ CIRDAP ได้เปิดตัวรายงานการพัฒนาชนบท ปี พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) ภายใต้หัวข้อ Digital Services for the Marginalized Rural in Asia and the Pacific: Accessibility, Affordability, and Implications เพื่อมุ่งเน้นการศึกษาความสามารถในการเข้าถึงและความสามารถในการจ่ายเพื่อรับบริการดิจิทัล และรายงานระบุว่าผู้ที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท ที่สามารถได้รับประโยชน์จากบริการดิจิทัล ของจำนวนผู้รับบริการ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจ่าย และความครอบคลุมของบริการ
โดยในช่วงเย็น ผู้ช่วยปลัดฯ ได้เป็นประธานงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำแก่คณะผู้เข้าร่วมประชุม ณ ห้องอาหาร หอวัง 2 และ 3 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์