เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายคริสทีนนิ่ง (Mr. Chris Tinning) ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตร ประมงและป่าไม้ออสเตรเลีย ประธานร่วมของการประชุมคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตรไทย – ออสเตรเลีย ครั้งที่ 22 เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานการฉายรังสีเป็นมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับสินค้าผักผลไม้สดตามข้อกำหนดของรัฐบาลออสเตรเลีย ณ โรงงานฉายรังสีบริษัท Steritech Merrifield Irradiation เมือง Mickleham รัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความชำนาญในการฉายรังสีมากว่า 50 ปี
โดยปัจจุบันมีการให้บริการเทคนิค Cobalt 60 รังสี X-ray และรังสี E beam ตามข้อกำหนดของประเทศปลายทาง ทั้งนี้รัฐบาลออสเตรเลียอนุญาตให้ใช้การฉายรังสีในสินค้าผลไม้สดส่งออกมาตั้งแต่ปี 2542 และมีมาตรการสำหรับภายในประเทศในปี 2554 ในผลไม้ทุกชนิด เป็นการแสดงถึงความปลอดภัยทางอาหารของการฉายรังสี ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้ประกอบการค้าปลีกและผู้บริโภคภายในประเทศ โดยมาตรการฉายรังสีองตลาดในประเทศมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 700 และตลาดส่งออกร้อยละ 50 ผลไม้ที่มีการฉายรังสีมากที่สุดคือ องุ่น คิดเป็นร้อยละ 34 รองลงมา คือ มะม่วง คิดเป็นร้อยละ 22
ที่ผ่านมา มาตรการกำจัดศัตรูพืชของออสเตรเลียมีอยู่ 3 ทางเลือก ได้แก่
1) การรมด้วยเมทิล โบมายด์ (Fumigation)
2) การกำจัดศัตรูพืชด้วยความเย็น (Cold Disinfestation)
3) การกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีอบไอน้ำ (Vapor Heat Treatment) โดยรัฐบาลออสเตรเลียรับรองระบบการฉายรังสีว่าเป็นมาตรการที่ปลอดภัย ไร้สารเคมี และไร้สารตกค้าง
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำในการใช้การฉายรังสี สำหรับผลไม้ส่งออกไปยังออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะสินค้ามะม่วงที่ออสเตรเลียและไทยมีฤดูกาลผลิตที่แตกต่างกัน จึงเป็นโอกาสของมะม่วงพรีเมียมที่ส่งออกจากไทยไปยังออสเตรเลีย ซึ่งรัฐบาลทั้งสองประเทศสนับสนุนมาตรการฉายรังสี เพื่อทดแทนการรมควันด้วยเมทิล โบมายด์ ทั้งยังเป็นการช่วยลดต้นทุนห่วงโซ่อุปทานของการบำบัดด้วยความเย็นและการอบไอน้ำ การหารือระหว่างกันในครั้งนี้ นับว่าประเทศไทยสามารถได้รับข้อมูลและเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ของออสเตรเลีย เพื่อนำไปปรับใช้กับการกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก
“การหารือระหว่างกันในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์ของประเทศไทย ที่สามารถได้รับข้อมูลและเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ของออสเตรเลีย เพื่อนำไปปรับใช้กับการกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก และขอชื่นชมการบริหารจัดการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในธุรกิจเกษตร และการใช้หลักการตลาดนำการผลิตที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรที่ตอบสนองความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคที่หลากหลาย โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคธุรกิจ” ดร.ทองเปลวกล่าว
นอกจากนี้ คณะยังได้แลกเปลี่ยนกับเกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบการส่งออกเชอรี่รัฐวิคตอเรีย (Young Smart Farmer) หนึ่งในผู้ปลูกเชอรี่รายใหญ่ของประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากสามารถลดความเสียหายคงคุณภาพความสดของสินค้าและยืดอายุการเก็บรักษา และได้รับประโยขน์จากมาตรการฉายรังสีที่ขยายโอกาสในการค้าเชอรี่สดทั้งในและส่งออก โดยมีคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ นิวซีแลนด์ เวียดนามอินโดนีเซีย เป็นต้น