นายสุรจิตร นามน้อย รองผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการพัฒนา สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เปิดเผยว่า หลังจากดำเนินงานโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวการณ์ว่างงานปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่ 9 จังหวัดจนประสบความสำเร็จทางมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สนับสนุนงบประมาณ เพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ด้วยเห็นความสำคัญของการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริที่ช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ หากมีแหล่งน้ำเพื่อใช้ทำการเกษตร
งบประมาณเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล 9 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญและอุบลราชธานี โดยเน้นทำงานตามกระบวนการของ “มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ” คือการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ให้ ส่วนชุมชนและองค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.)ร่วมสละแรงงานลงมือทำด้วยตนเอง ช่วยเรื่องช่าง เครื่องไม้เครื่องมือ และเครื่องจักรที่จำเป็น
การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เห็นผลชัดเจนว่า “ปิดทองหลังพระฯ” มีเทคนิคมีความรู้ บวกกับการนำแนวพระราชดำริ “ระเบิดจากข้างใน” คือการมีส่วนร่วมมาสร้างกระบวนการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการร่วมกัน ถือเป็นจุดเด่นของ “ปิดทองหลังพระฯ” ที่ทำได้ดี ดังนั้น ต้องทำต่อในส่วนของการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก
โดยในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ลุ่มน้ำมูล 9 จังหวัดนี้ ทางชุมชนและ อปท. จะต้องสำรวจแหล่งน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ตำบลของตัวเองก่อน จากนั้นค่อยมาลำดับความสำคัญ จุดไหนที่มีปัญหาที่จะต้องแก้ก่อน-หลัง จุดไหนที่มีหน่วยงานเป็นเจ้าของอยู่แล้ว จุดไหนที่ถ่ายโอนแล้วเป็นของ อปท. จุดไหนที่เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบ โดยโครงการนี้มีทั้งหมด 132 โครงการ ประกอบกับเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการจัดอบรมผู้เกี่ยวข้องทั้งคนในชุมชนและ อปท. เพื่อให้จัดทำรายละเอียดโครงการ วิเคราะห์พื้นที่ และทำผังข้อมูลแผนที่น้ำตำบลด้วย
ปัญหาเด่นชัดของพื้นที่ลุ่มน้ำมูล คือ เป็นลุ่มน้ำที่น้ำมาเยอะมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศในทุก ๆ ปี แต่ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ในช่วงที่น้ำล้น แม้ที่ผ่านมาทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่เกิดการพัฒนาเป็นเชิงลุ่มน้ำ ขณะที่ “ปิดทองหลังพระฯ” มีประสบการณ์ในการทำลุ่มน้ำขนาดเล็กอยู่แล้ว หากนำคนมาฝึกฝนในการทำงานในลุ่มน้ำมูล อาจจะเกิดผลสำเร็จ และอาจเป็นผลพวงส่วนหนึ่งที่ขยายให้ทางจังหวัดให้ความสำคัญกับการทำเรื่องน้ำแบบเชิงพื้นที่มากขึ้น ซึ่งเดิมในแต่ละจังหวัดมีคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดอยู่แล้ว ดังนั้น หากเกิดการขับเคลื่อนโดยการนำศาสตร์พระราชทานและพระราชดำริที่ให้ประชาชนลุกมาพึ่งตนเองและรู้จักตัวเองประกอบไปด้วยจะเป็นประโยชน์และความยั่งยืน
ลุ่มน้ำมูล ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ประมาณ 71,060 ตร.กม. หรือประมาณ 44,412,479 ไร่ ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่14° 7´เหนือ ถึงเส้นรุ้งที่ 16° 20´เหนือ และระหว่างเส้นแวงที่ 101° 17´ ตะวันออก ถึงเส้นแวงที่ 105° 40´ ตะวันออก พื้นที่ส่วนใหญ่ครอบคลุม 10 จังหวัด รวม 118 อำเภอ 19 กิ่งอำเภอในภาคอีสานตอนล่าง และบางส่วนของภาคอีสานตอนกลาง มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดกับลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำโขงอีสาน
ทิศใต้ ติดกับลุ่มน้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำโตนเลสาปและประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย
ทิศตะวันออก ติดกับลุ่มน้ำโขงและประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศตะวันตก ติดกับ ลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำบางปะกง