กรมส่งเสริมการเกษตร โชว์โมเดลความสำเร็จกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง 

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง พร้อมประเมินผลการควบคุมการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังตามมาตรการของกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า จังหวัดที่สามารถดำเนินการควบคุมพื้นที่การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังได้สำเร็จ เช่น จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดยโสธร และจังหวัดนครสวรรค์ 

โดยการดำเนินงานตามมาตรการจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง คือ มาตรการสร้างการรับรู้ โดยจัดทำสื่อที่ทันสมัย ให้เกษตรกรเข้าใจได้ง่าย เช่น อินโฟกราฟิก วีดิทัศน์ และมีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับโรคใบด่าง เช่น สถานการณ์การระบาดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ช่องทาง กลุ่มไลน์ การประชุม การอบรมเวทีต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมการเกษตรและเวทีของหน่วยงานภาคี ใช้เสียงตามสาย การออกหน่วยบริการ และการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาด 

11FEC4CD 7FF3 485F 8C61 F05393D0ED5A

โดยสำรวจและติดตามสถานการณ์การระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครเกษตร จัดทำแปลงติดตามสถานการณ์ของโรคครอบคลุมทุกอำเภอ มีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และคณะทำงานตรวจประเมินแปลงพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด เพื่อขับเคลื่อนการป้องกันกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมให้มีแปลงพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและทนทานโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่ เช่น ให้สำนักงานเกษตรอำเภอขึ้นทะเบียนแปลงพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดอย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกของอำเภอนั้นๆและส่งเสริมให้มีแปลงต้นแบบแปลงพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดอย่างน้อยอำเภอละ 1 แปลง เพื่อเรียนรู้ศึกษาดูงาน ขยายผลให้กับเกษตรกรในพื้นที่

มาตรการควบคุมการระบาด โดยมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาคี ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ในการใช้ “หน่วยเคลื่อนที่เร็ว” ทำลายต้นมันสำปะหลังทั้งหมดทันที” เพื่อตัดวงจรการระบาดกรณีพบพื้นที่ระบาดไม่มาก เปลี่ยนพืชปลูกเพื่อพักแปลง เช่น อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้มาตรการทางสังคม โดยตั้งข้อกำหนดร่วมกันของชุมชน ใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมการขนย้ายท่อนพันธุ์ ได้แก่ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กจร.) และประชาสัมพันธ์ประกาศให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ

67A53949 CDE4 40D3 9597 6BF434661837

มาตรการให้ความช่วยเหลือ โดยบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน เช่น โรงงานที่รับซื้อผลผลิตมันสำปะหลังในพื้นที่ สนับสนุนสารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบให้แก่เกษตรกรเจ้าของแปลงที่พบการระบาดและแปลงเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อตัดวงจรการระบาดให้ครอบคลุมที่สุด สนับสนุนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด รวมถึงการจัดอบรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง

มาตรการติดตามประเมินผล โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางดำเนินการตามมาตรการของจังหวัดกาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ยโสธร และนครสวรรค์ ถือเป็นโมเดลความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง จึงเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อนำไปปรับใช้ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ที่ตนดูแล อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตร ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทุกพื้นที่ร่วมดำเนินการควบคุมการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ของตน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต