นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2565 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการเพิ่มช่องทางการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผ่านระบบออนไลน์ด้วยเครื่องมือ e-Form โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้เริ่มนำร่องใช้ระบบ e-Form สำหรับเกษตรกรรายใหม่ที่ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ประเภทโฉนด น.ส.4 เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
โดยปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ทำการพัฒนาระบบ e-Form และเปิดให้ใช้งานได้กับเกษตรกรรายใหม่ทุกรายที่ทำการเพาะปลูกหรือประกอบกิจกรรมทางการเกษตร เช่น ปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกผลไม้ ปลูกพืชแบบสวนผสม ทำนาเกลือสมุทร และเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ โดยไม่จำกัดเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งเปิดให้ใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 เป็นต้นไป
นายเข้มแข็ง กล่าวเพิ่มเติมว่า การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผ่านระบบออนไลน์ e-Form เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกร และตอบโจทย์ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนในการปฏิบัติงาน ซึ่งการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เกษตรกรจะได้รับการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ รวมทั้งความช่วยเหลือและสิทธิประโยชน์ตามโครงการที่หน่วยงานภาครัฐได้จัดทำขึ้นจึงขอให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ปี 2565 กับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน สำหรับนำข้อมูลไปใช้วางแผนการผลิต การตลาดและส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรได้อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมถึงใช้ในการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ
เกษตรกรรายใหม่สามารถขึ้นและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรผ่านระบบออนไลน์โดยสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ efarmer.doae.go.th โดยเมื่อผ่านการตรวจสอบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5 วันทำการแล้ว เกษตรกรจะสามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรผ่านระบบ e-Form ได้ทันที และยังสามารถติดตามผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผ่านระบบได้ด้วย ส่วนในช่องทางการขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรเดิมที่ให้บริการคือ สำนักงานเกษตรอำเภอ และแอปพลิเคชั่น Farmbook ยังสามารถใช้งานได้เช่นเดิมแนะนำให้สอบถามทางโทรศัพท์ไปยังสำนักงานเกษตร อำเภอใกล้บ้านหรือที่ท่านสะดวก เพื่อรับทราบแนวทางปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงช่วงการระบาดของโรคโควิด-19
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้เผยแพร่ เกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช
–ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562
–หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์
–วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564
หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ มีดังนี้
-เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย
-มีพื้นที่เสียหายจริง อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ ช่วยเหลือไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่
-ข้าว 1,340 บาทต่อไร่
-พืชไร่ละพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่
-ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 4,048 บาทต่อไร่
ขั้นตอนการขอรับความช่วยเหลือ
เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว
-เกษตรกรยื่นแบบขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน/อบต. หรือนายกเทศมนตรีตรวจสอบและรับรอง ตามสถานที่ที่กำหนด
-คณะกรรมการหมู่บ้านตรวจสอบ และรับรองความเสียหาย
-นำรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ไปติดประกาศคัดค้านตามสถานที่ที่กำหนด ไม่น้อยกว่า 3 วัน
-สำนักงานเกษตรอำเภอนำเสนอคณะกรรมการ ก.ช.ภ.อ. พิจารณาให้ความช่วยเหลือ (วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท)
-หากไม่เพียงพอ ให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเสนอคณะกรรมการ ก.ช.ภ.จ. พิจารณาให้ความช่วยเหลือ (วงเงินในอำนาจ 20 ล้านบาท)
-หากไม่เพียงพอ ให้คณะกรรมการ ก.ช.ภ.จ. พิจารณาให้ความเห็นชอบใช้เงินทดรองราชการ ในอำนาจปลัดเกษตรฯ (วงเงินในอำนาจ 50 ล้านบาท)