“จุรินทร์”ถก SABIC บริษัทปุ๋ยรายใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย ขอบคุณและสนับสนุนการซื้อปุ๋ยของไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนในประเทศจนเป็นผลสำเร็จ เผยล่าสุดนำเข้ามาแล้ว 4.25 แสนตัน ส่วนในประเทศได้ดูแลเรื่องราคา ไม่ให้สูงเกินจริง แม้ต้นทุนนำเข้าปุ๋ยพุ่ง และดูเรื่องปริมาณ แย้มข่าวรัฐบาลจะจัดโครงการปุ๋ยราคาพิเศษช่วยเหลือเกษตรกรอีก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการพบหารือกับ Mr.Yousef Abdullah Al-Benyan ตำแหน่ง CEO บริษัท SABIC ซึ่งเป็นบริษัทผลิตปุ๋ยรายใหญ่รายหนึ่งของโลกและเป็นรายใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย ที่บริษัท SABIC ว่า ได้หารือและขอบคุณบริษัท SABIC ที่ได้สนับสนุนการซื้อปุ๋ยของไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนในประเทศ โดยที่ผ่านมาได้ทำสัญญาซื้อขายและนำเข้าปุ๋ยได้แล้วถึงเดือนก.ค.2565 จำนวน 323,000 ตัน และเดือนส.ค.2565 มีการเจรจานำเข้าเพิ่มเติมอีก 102,000 ตัน รวมนำเข้าปุ๋ย 425,000 ตัน ซึ่งอย่างน้อยปัญหาขาดแคลนปุ๋ยในประเทศไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่เรื่องราคายังต้องเป็นไปตามกลไกของราคาปุ๋ยในตลาดโลก
“ไทยนำเข้าปุ๋ยจากซาอุดีอาระเบียได้เยอะขึ้น เร่งรัดมากกว่าช่วงที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลซาอุดีอาระเบียไฟเขียวให้โอกาสไทยนำเข้ามากขึ้น นำเข้าจาก SABIC เป็นหลัก ตอนหลังนำเข้าจากบริษัทมาเดน (MA’ADEN) ได้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งมาเดน ผลิตฟอสฟอรัสเป็นหลัก ส่วน SABIC ผลิตยูเรียเป็นหลัก จะนำเข้าฟอสฟอรัสกับยูเรียได้มากขึ้น ส่วนโพแทสเซียมหาจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม”นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาปุ๋ยในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากราคาปุ๋ยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น และไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเกือบ 100% ได้เร่งแก้ไขปัญหาใน 2 ข้อ คือ เรื่องราคา และเรื่องปริมาณต้องไม่ให้ขาดแคลนสำหรับความต้องการใช้ของเกษตรกร โดยเรื่องราคา แก้ไขด้วยการจัดทำโครงสร้างราคาใหม่ กรมการค้าภายในเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งทำเสร็จแล้ว สอดคล้องกับต้นทุนที่เป็นจริงในการนำเข้า โดยดูจากใบอินวอยด์จริง ซื้อขายจริงให้ยุติธรรมกับเกษตรกรที่เป็นผู้ใช้ปลายทาง ส่วนเรื่องปริมาณ ตอนนี้ถือว่าแก้ปัญหาลุล่วง สามารถเจรจากับซาอุดีอาระเบียเร่งนำเข้าปุ๋ย
ทั้งนี้รัฐบาลจะจัดโครงการปุ๋ยราคาพิเศษช่วยเหลือเกษตรกรเป็นการเฉพาะ โดยได้สั่งการว่าจะทำอย่างไรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกันแสวงหาแหล่งปุ๋ยราคาพิเศษ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จะพยายามเต็มที่ และจัดปุ๋ยราคาพิเศษให้กลุ่มเกษตรกรแต่ละราย เป็นราคาตลาด และที่ผ่านมา โครงการปุ๋ยราคาพิเศษได้ทำมาแล้วรอบหนึ่ง โดยใช้ความร่วมมือระหว่างสมาคมปุ๋ยแห่งประเทศไทยกับกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ปรับราคาปุ๋ยลง จากราคาตลาดกระสอบละ 20-50 บาท จำนวน 4,500,000 กระสอบ และมีอีกทาง คือ การช่วยสนับสนุนชดเชยราคาปุ๋ยให้กับเกษตรกร ซึ่งรอการพิจารณาของฝ่ายต่าง ๆ ที่ดูแลด้านการเงินการคลังของประเทศอยู่
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แจ้งว่า ซาอุดีอาระเบียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีอันดับที่ 6 ของโลก ซึ่งปุ๋ยเคมีที่ซาอุดีอาระเบียส่งออกมากที่สุด ได้แก่ 1.ปุ๋ยผสม NPK 2.ปุ๋ยไนโตรเจน 3.ปุ๋ยโพแทสเซียม และประเทศที่ซาอุดีอาระเบียส่งออกปุ๋ยเคมีมากที่สุด ได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ บราซิล สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และไทย ผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย คือ SABIC , Saudi Arabian Fertilizer Company (SAFCO) และ Saudi United Fertilizer Co. (Al-Asmida)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางไปซาอุฯของนายจุรินทร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์และผู้แทนภาคเอกชนในครั้งนี้ นอกจากเจรจาเรื่องปุ๋ยแล้ว ก่อนหน้านี้ ได้เข้าพบหารือกับ ดร.ฮีชาม บิน ซาอัด อัล จาดฮี ประธานองค์การอาหารและยาซาอุดีอาระเบีย (SFDA)หรือ อย.ซาอุดีอาระเบีย ที่องค์การอาหารและยาซาอุดีอาระเบีย (Saudi Food and Drug Authority) เพื่อผลักดันส่งออกชิ้นส่วนไก่-โค-แพะ ด้วย
โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้เราสามารถส่งออกไก่มาซาอุดีอาระเบียได้แล้ว 11 โรงงานซึ่ง อย. ซาอุดีอาระเบียให้การรับรองแล้ว แต่ยังติดขัดบางส่วน เรื่องการส่งออกชิ้นส่วนไก่ เดิมที่ส่งมาได้คือไก่ทั้งตัว แต่ชิ้นส่วนของไก่ยังมีข้อเข้าใจไม่ตรงกันกับทาง อย.ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งบอกว่าอนุญาตให้ส่งออกชิ้นส่วนไก่ได้ แต่โรงงานในประเทศไทยหรือผู้ส่งออกของไทยยังเข้าใจว่าไม่สามารถส่งออกมาได้ ตนจะประสานงานกับโรงงานทั้งหมด 11 โรงงาน ให้เข้าใจว่า อย.ซาอุฯอนุญาตให้ส่งออกมาได้และให้เจรจาได้โดยตรง
เรื่องที่สอง ได้มายื่นรายชื่อโรงงานชำแหละเนื้อไก่อีก 28 โรงงานให้เร่งรัดการตรวจโรงงาน ซึ่ง อย. ซาอุฯแจ้งว่ายินดี ตอนนี้รอเอกสารทั้งหมดจากกรมปศุสัตว์ ตนจะเร่งให้กรมปศุสัตว์ส่งข้อมูลทั้งหมดที่ทาง อย.ซาอุฯ ต้องการเพื่อเร่งดำเนินการตรวจให้โดยเร็วที่สุด
2) เรื่องเนื้อสัตว์ชนิดอื่น เช่น เนื้อวัว เป็นต้น ซึ่งทางซาอุดีอาระเบียยืนยันว่าต้องการเพิ่ม เพราะต้องการเนื้อที่มีคุณภาพดีราคาถูกและมีความปลอดภัยซึ่งพร้อมนำเข้าจากหลายประเทศโดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่พร้อมอำนวยความสะดวก ซึ่งจะต้องมีการประสานงานกันในรายละเอียด กรมปศุสัตว์จะต้องเป็นต้นเรื่อง และให้ทั้งสองฝ่ายคุย 3)อยากให้นักลงทุนของซาอุดีอาระเบียไปร่วมลงทุนที่เมืองไทย ให้การผลิตเนื้อหลายชนิดส่งออกมาซาอุดีอาระเบียสะดวกคล่องตัวขึ้น เพราะเมื่อไปร่วมลงทุนจะทราบความต้องการ ตามหลักการของสินค้าฮาลาลที่ซาอุดีอาระเบียต้องการดีกว่าเรา
เรื่องที่สาม อย.ซาอุดีอาระเบีย ต้องการพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการ การผลิตสินค้าฮาลาลที่ได้มาตรฐานกับประเทศไทยซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตนจะประสานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประสาน อย. ซาอุดีอาระเบียอีกครั้งหนึ่ง เพื่อร่วมมือด้านวิชาการ ส่งเสริมการผลิตอาหารสินค้าฮาลาลร่วมกันต่อไป ให้ได้มาตรฐานในระดับที่ต้องการ
“ซึ่งการเจรจาครั้งนี้จะเป็นผลดีกับการส่งออกสินค้าไทยในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายสินค้า มายังซาอุดีอาระเบีย จะช่วยให้ตัวเลขการค้าต่อไปสูงขึ้น เพราะตัวเลขการค้าไทยกับซาอุดีอาระเบียมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะ 7 เดือนแรกของปีนี้ สามารถส่งออกสินค้ามาซาอุดีอาระเบียได้เป็นบวกถึง 26% จะมีส่วนช่วยทำให้ตัวเลขดีขึ้นต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า สำหรับการผลักดันการส่งออกสินค้าไก่และผลิตภัณฑ์ไปซาอุดีอาระเบีย ในปี 2562 SFDA ได้เดินทางมาตรวจสถานประกอบการทั้งโรงฆ่าสัตว์ปีกและโรงงานแปรรูปสัตว์ปีกของไทย 11 แห่ง เพื่อดำเนินการเปิดตลาดด้านสุขอนามัยสำหรับการดำเนินการนำเข้าสัตว์ปีกจากไทย ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้เรียกร้องให้ซาอุดีอาระเบียยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกจากไทยตั้งแต่ปี 2552 ต่อมาในปี 2563 ซาอุดีอาระเบียได้ให้การยอมรับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) เป็นหน่วยงานออกเครื่องหมายรับรองฮาลาลของประเทศไทย (Certification Body) ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกที่ไม่ใช่มุสลิมมีหน่วยงานที่สามารถออกเครื่องหมายฮาลาลสำหรับการส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังซาอุดีอาระเบีย