นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายกีรติ รัชโน รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แถลงข่าวภายหลังการนำคณะผู้แทนการค้าไทย ภาครัฐและเอกชน เข้าพบปะหารือกับ 5 รัฐมนตรีของซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ แรงงาน ท่องเที่ยวการลงทุน และอุตสาหกรรมเหมืองแร่ รวมถึงประธานสภาหอซาอุดีอาระเบีย และประธานองค์การอาหารและยา ซาอุดีอาระเบีย ที่ห้อง Al Biyal Diywan โรงแรม Intercontinental ประเทศซาอุดีอาระเบีย
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสมายืนซาอุดีอาระเบียพร้อมนำภาคเอกชน มาเจรจาทางการค้าจำนวน 138 ราย มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์จำนวนหนึ่ง ภารกิจที่สำคัญสูงสุดประการหนึ่งคือ การหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของซาอุดีอาระเบีย ท่านมาจิด บิน อับดุลลา อัล กาซาบี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสื่อสารมวลชน เมื่อช่วงเย็น
โดยการหารือนั้นท่านได้เชิญรัฐมนตรีอีก 4 ท่าน มาร่วมหารือด้วย รัฐมนตรีอีก 4 ท่านประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรแร่ธาตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและการพัฒนาสังคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และท่านยังเชิญประธานหอการค้าซาอุดีอาระเบียและประธานองค์การอาหารและยาซาอุดีอาระเบียร่วมหารือด้วย ซึ่งท่านแจ้งให้ทราบว่าท่านมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทยอย่างยิ่ง โดยภายหลังการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของนายกรัฐมนตรีประเทศไทยในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และท่านสั่งการให้รัฐมนตรีทุกคนให้ความร่วมมือกับไทยอย่างเต็มที่ในทุกมิติ
การหารือประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง มีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ที่สำคัญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซาอุดีอาระเบียรับข้อเสนอของตนทุกข้อเรื่องที่หนึ่ง ตนเสนอให้ซาอุดีอาระเบีย ในฐานะที่เป็นประเทศหนึ่งที่มีความสำคัญในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) ทำ FTA กับไทยซึ่งรัฐมนตรีซาอุฯตอบรับข้อเสนอของตน จะเริ่มเดินหน้าจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับ GCC ที่มี 6 ประเทศ ประกอบด้วย (ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน ยูเออี กาตาร์และคูเวต) โดยซาอุฯจะช่วยประสานงานและผลักดันร่วมกับประเทศไทยต่อไปเพื่อให้เกิดFTA ไทย-GCC ต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งซาอุดีอาระเบีย ตอบรับที่จะช่วยสนับสนุนและผลักดัน ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่เป็นรูปธรรม
เรื่องที่สอง ตนเสนอให้จัดทำJTC(Joint Trade Committee)หรือคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทยกับซาอุฯซึ่งท่านรัฐมนตรีตอบรับข้อเสนอตนและทั้งตนและท่านได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและหน่วยงานของซาอุดีอาระเบียเริ่มเจรจาได้ในทันทีเพื่อทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันหรือMOC (Memorandum of Coorperation)โดยเร็วที่สุด เพื่อจะจัดตั้ง JTC ต่อไปให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้
เรื่องที่สาม ทั้งไทยและซาอุดีอาระเบีย จะให้การสนับสนุนและส่งเสริมการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย จะเป็นการจัดตั้งสภาในรูปแบบที่มีองค์กรเอกชนของทั้ง 2 ประเทศมาร่วมกันในการทำงานในภาคเอกชนต่อไป โดยลงนาม MOU จัดตั้งในวันนี้ 29 สิงหาคม
เรื่องที่สี่ เรื่อง Saudi Vision 2030 ตนได้แจ้งให้รัฐมนตรีพาณิชย์ซาอุดีอาระเบียรับทราบว่าประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุนทั้งในด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องของการก่อสร้างทั้งในรูปการให้บริการการก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยเฉพาะทางด้านอาหาร
เรื่องที่ห้า ท่านรัฐมนตรีพาณิชย์ซาอุดีอาระเบียตอบรับคำขอของตน ที่ขอความกรุณาให้ องค์การอาหารและยาซาอุดิอาระเบีย (SFDA) หรือ อย.ของซาอุดีอาระเบียเร่งส่งเจ้าหน้าที่ ตรวจโรงงานผลิตไก่ในประเทศไทย เพื่อให้การรับรองส่งออกไปยังซาอุดีอาระเบียได้ ซึ่งรับรองแล้ว 11 โรงงาน ยังมีอีกอย่างน้อย 28 โรงงานที่มีศักยภาพส่งออกไก่มาซาอุดีอาระเบียได้ ซึ่งท่านได้ตอบรับและสั่งการให้ SFDA หรือ อย. ของซาอุฯ เร่งประสานงานดำเนินการต่อไปโดยเร็ว
เรื่องที่หก ภาคเอกชนยังติดขัดปัญหาในการเดินทางมาทำการค้าและการลงทุนในซาอุดีอาระเบีย เรื่องการขอวีซ่าซึ่งปัจจุบันนี้การขอวีซ่าจำเป็นที่จะต้องได้รับหนังสือเชิญจากบริษัทคู่ค้าของซาอุดีอาระเบีย ทางการซาอุฯ จึงจะพิจารณาวีซ่าให้ แต่หลังจากที่ตนเจรจากับท่าน ท่านได้สั่งการทันทีให้เร่งแก้ปัญหานี้โดยเร็ว เมื่อเสร็จแล้วต่อไปนี้นักธุรกิจไทยที่จะเดินทางมาทำการค้าการลงทุนที่ซาอุดีอาระเบียใช้แค่หนังสือรับรองจากสภาภาคเอกชนของไทยเท่านั้นจะทำให้การขอวีซ่าของภาคเอกชนที่เดินทางมาที่นี่สะดวกขึ้นต่อไปในอนาคต
“ทั้งหมดนี้เป็นผลสำเร็จเป็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมและจะเกิดผลดีในเรื่องการค้าการส่งออกการลงทุน ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียต่อไป ซึ่งจะเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งยวด” นายจุรินทร์ กล่าว
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ก่อนการแถลงในวันนี้นายจุรินทร์ได้มอบใบประกาศนียบัตรให้กับ HTA (Honorary Trade Avisor to the Ministry of Commerce) ดร.ยูเซฟ อับดุลลาห์ อัลฮูมูดี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เห็นชอบการแต่งตั้งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ(HTAS)เพื่อเป็นตัวแทนดูแล ปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศไทย สนับสนุนและประสานงานการจัดกิจกรรมทางการค้าของไทยทั้งใน และต่างประเทศ ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการดำเนินงานร่วมกันกับ สคต.(สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ) ตลอดจนให้คำปรึกษาและแนะนำลู่ทาง โอกาสทางการค้าการลงทุนของไทย และข้อมูลเชิงลึกที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ โดยมีกำหนดวาระดำรงตำแหน่งครั้งละ 2 ปี