กรมอุตุฯแจงกระแสโซเชี่ยลแห่แชร์ภาพเมฆลอยทะมึน คือ”เมฆคิวมูโลนิมบัส”ด้าน อ.ธรณ์ ชี้เมฆที่เห็นกำลังสะท้อนภาวะ”โลกร้อน”

กรมอุตุนิยมวิทยา แจงกระแสโซเชี่ยลแห่แชร์ภาพก้อนเมฆลอยทะมึนปกคลุมท้องฟ้ากรุงเทพมหานครเมื่อเช้า เป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือ “คิวมูโลนิมบัส” แต่ลักษณะการเคลื่อนที่ขึ้นลงที่รุนแรง ทำให้เกิดแนวโค้งเหมือนเมฆอาร์คัส ด้านนักวิชาการดังเผยเมฆที่ปรากฏ สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะ”โลกร้อน”แม้เป็นเมฆฝนทั่วไป แต่แฝงไปด้วยมวลฝนขนาดใหญ่

กรมอุตุนิยมวิทยา ขอเรียนชี้แจงว่า เมื่อเช้าวันที่  29 สิงหาคม  2565  ได้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองบริเวณภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกิดจากลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำเกิดฝนตกในภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ส่วนเมฆที่ปรากฏ เป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือ คิวมูโลนิมบัส เมื่อเช้านี้มีลักษณะการเคลื่อนที่ขึ้นลงที่รุนแรงทำให้เกิดแนวโค้งเหมือนเมฆอาร์คัส(มีลักษณะโค้งเหมือนกันชนหน้ารถ คล้ายม้วนแบบหลอดและแบบชั้น) และเนื่องจากอาร์คัส เป็นส่วนหนึ่งของเมฆฝนฟ้าคะนองจึงสามารถแผ่ออกมาไกลจากตัวเมฆและมองเห็นได้ในหลายพื้นที่และหลายกิโลเมตร   

C032386F F7F8 469D 9FE9 4AB755D76434

สำหรับกลุ่มเมฆฝนทำไมถึงเป็นสีดำ เนื่องจากกลุ่มเมฆฝนที่ก่อตัวมีขนาดใหญ่และหนา ดังนั้น ทำให้แสงแดดจากพระอาทิตย์ไม่สามารถผ่านทะลุกลุ่มเมฆฝนได้ จึงทำให้กลุ่มเมฆฝนเป็นสีดำ ทำให้บรรยากาศมืดเหมือนกลางคืน  ตัวอย่างเช่น เช้าวันที่ 29 สิงหาคม 2565 มีกลุ่มเมฆฝนก่อตัวทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร บริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา และเคลื่อนเข้าปกคลุมกรุงเทพมหานคร ปทุมธานีนนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งเป็นกลุ่มเมฆฝนที่มีขนาดใหญ่ และหนา 

สำหรับบริเวณที่กลุ่มเมฆฝนก่อตัวจะเกิดทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทิศที่พระอาทิตย์ขึ้นและเมื่อกลุ่มเมฆฝนที่ก่อตัวมีขนาดใหญ่และหนา ดังนั้นทำให้แสงแดดจากพระอาทิตย์ไม่สามารถผ่านทะลุกลุ่มเมฆฝนได้ จึงทำให้กลุ่มเมฆฝนเป็นสีดำ และบรรยากาศมืดเหมือนกลางคืน

หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่ม สามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-14 และ 1182  ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

50508D6A 61A1 4813 B8D5 42FAA00AC21E
ภาพ FM91 trafficpro /credit lekbb 

ด้าน อ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์อธิบายและเตือนผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

“ภาพเมฆดำทะมึน เปลี่ยนกรุงเทพตอนเช้าให้เป็นเหมือนตอนกลางคืน คงเป็นสิ่งที่ทำให้เพื่อนธรณ์ตกใจ”

นั่นคือเมฆโลกร้อน เกิดจากทะเลร้อน น้ำระเหยเยอะ อากาศร้อน จุไอน้ำได้มากขึ้น กลายเป็นเมฆจุน้ำมหาศาล พร้อมจะเททะลักลงมากลายเป็นฝนห่าใหญ่

เคราะห์ดีที่หนนี้ลมพัดผ่านไป ฝนตกไม่มาก แต่ยังมีหนหน้าและหนต่อไป เพราะนี่คือการเริ่มต้นของยุคextreme weather

สภาพภูมิอากาศสุดขั้วเกิดจากความแปรปรวนของโลก หลังจากที่มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสะสมกันมานาน และยังคงปล่อยต่อไป

กลายเป็นภัยพิบัติที่จะสร้างผลกระทบสาหัส โดยเฉพาะประเทศที่กำลังเปราะบางทางเศรษฐกิจ

ตัวอย่างเห็นชัด ปากีสถาน เจอมหาอุทกภัย จากสภาพอากาศเช่นนี้

ไม่ใช่เพียงฝนตกหนัก 8 สัปดาห์รวด ปริมาณน้ำจากฟ้ามากกว่าค่าเฉลี่ยเป็นเท่าๆ ยังรวมถึงธารน้ำแข็งบนหิมาลัยที่ละลายแบบไม่เคยเกิดมาก่อน

ปากีสถานเป็นประเทศที่มีธารน้ำแข็งมากที่สุดในโลก (ไม่นับแถบขั้วโลก) น้ำจากยอดเขาไหลทะลักมารวมน้ำฝน เกิดเป็นอุทกภัยทำให้ผู้เสียชีวิตนับพัน คน 33 ล้านคนเดือดร้อน แหล่งเกษตรเสียหายยับเยิน 

ความเสียหายที่เกิดขึ้นนับว่าเกินความสามารถประเทศที่กำลังอยู่ในสถานการณ์ทางการเงินไม่ดี จะรับมือได้ 

เมืองไทยเองก็กำลังเกิดน้ำท่วมใหญ่หลายแห่ง น้ำทางเหนือกำลังมา

ในขณะที่ลำธารและน้ำตกใกล้ภูเขา บางแห่งเจอน้ำป่าฉับพลัน ต้องปิดการท่องเที่ยวบางจุด

รวมไปถึงเมฆสีดำทะมึน ฝนตกรุนแรงในพื้นที่เล็กๆ เกิดน้ำท่วมรวดเร็ว 

คนเมืองเหนื่อยเหลือเกินกับการไปทำงาน/กลับบ้าน รถติด/น้ำเข้าบ้าน

นั่นคือบางตัวอย่างของ extreme weather ที่เราเจอและจะเจอต่อไป

มันไม่หายไปหรอก แต่มันจะแรงขึ้นไปเรื่อยๆ ก็ขึ้นกับว่าจะแรงขึ้นเร็ว/ช้า ทั้งหมดอยู่ที่เราในวันนี้

ระหว่างที่เรากำลังไปอย่างเชื่องช้า เมฆสีดำลูกใหญ่กว่ากำลังเคลื่อนเข้ามา

เคลื่อนเข้ามาแทนความสุขของพวกเราที่กำลังจางหายไป

อยากให้ความสุขอยู่ต่อไปอีกหน่อย ทุกคนทราบดีว่าเราควรทำอย่างไร

ทำตามนั้น ทำให้มากสุดเท่าที่ทำได้ 

อาจไม่สะดวกสบาย อาจลำบากบ้าง

แต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่รอเราอยู่ข้างหน้า นี่ไม่ใช่ความลำบากอะไรเลย…