“หนอนด้วงหนวดยาว”ภัยมืดทำ”ต้นทุเรียน” ถึงตาย

“หนอนด้วงหนวดยาว” การระบาดของแมลงศัตรูชนิดนี้ เกิดขึ้นในลักษณะค่อย ๆ สะสมความรุนแรงแบบภัยมืด โดยชาวสวนไม่ทราบว่ามีการระบาดของศัตรูพืช เนื่องจากเป็นแมลงกลางคืนพฤติกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นในช่วงกลางคืนและส่วนใหญ่พบทำลาย “ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง” ตัวเต็มวัย

เพศเมียวางไข่โดยฝังไว้ใต้เปลือกตามลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ หนอนกัดกินชอนไชไปตามเปลือกไม้ด้านในไม่มีทิศทาง หรืออาจกัดควั่นเปลือกรอบต้น การทำลายที่เกิดจากหนอนขนาดเล็กไม่สามารถสังเกตได้จากภายนอก แต่เมื่อหนอนโตขึ้นจะพบขุยไม้ละเอียดซึ่งเป็นมูลของหนอนตามแนวรอยทำลาย หรือตรงบริเวณที่หนอนทำลายกัดกินเนื้อไม้อยู่ภายในจะเห็นมีของเหลวสีน้ำตาลแดงไหลเยิ้มอยู่ ในระยะต่อมาจึงจะพบมูลหนอนออกมากองเป็นกระจุกอยู่ข้างนอกเปลือก

เมื่อใช้มีดปลายแหลมแกะเปลือกไม้จะพบหนอนอยู่ภายใน เกษตรกรจะสังเกตพบรอยทำลายต่อเมื่อหนอนตัวโตและอาจเจาะเข้าเนื้อไม้ หรือกินควั่นรอบต้น “ทุเรียน” แล้วซึ่งจะมีผลทำให้ท่อน้ำท่ออาหารถูกตัดทำลายเป็นเหตุให้“ทุเรียน”เริ่มทรุดโทรม ใบเหลืองและร่วง และยืนต้นตายได้

279485303 326262362986318 3777842063037392905 n
“หนอนด้วงหนวดยาว”ภัยร้าย”ต้นทุเรียน

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

  • กำจัดแหล่งขยายพันธุ์ โดยตัด “ต้นทุเรียน” ที่ถูกทำลายรุนแรงจนไม่สามารถให้ผลผลิตเผาทิ้งและควรดูแลรักษา “ต้นทุเรียน” ให้มีความสมบูรณ์ แข็งแรงอยู่เสมอ
  • -กำจัดตัวเต็มวัย โดยใช้ไฟส่องจับตาม “ต้นทุเรียน” ในช่วงเวลา 20.00 น. ถึงช่วงเช้ามืด หรือใช้ตาข่ายดักปลาตาถี่พันรอบต้นหลาย ๆ ทบ เพื่อดักตัวด้วง
  • -หมั่นตรวจสวนเป็นประจำ โดยสังเกตรอยแผล ซึ่งเป็นแผลเล็กและชื้น ที่ตัวเต็มวัยทำขึ้นเพื่อการวางไข่ ถ้าพบให้ทำลายไข่ทิ้ง หรือถ้าพบขุยและการทำลายที่เปลือกไม้ให้ใช้มีดแกะ และจับตัวหนอนทำลาย
  • -แหล่งที่มีการระบาดรุนแรง ควรป้องกันการเข้าทำลายของ “ด้วงหนวดยาว” โดยพ่นสารฆ่าแมลง ไทอะมีทอกแซม/แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 14.1%/10.6% ZC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โคลไทอะนิดิน 16% SG อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะซีทามิพริด 20% SP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้โชกเฉพาะบริเวณลำต้น ตั้งแต่โคนจนถึงยอด และกิ่งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ด้วงชอบวางไข่ พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 2 สัปดาห์

ที่มา สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร