นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยเกษตรกรผู้ประสบเหตุอุทกภัยจากเหตุพายุดีเปรสชัน มู่หลานและร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้การช่วยเหลือและเตรียมการรับมือรองรับเกษตรกรผู้ประสบภัย
โดยในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ติดตามสถานการณ์การอุทกภัยจากพายุดังกล่าว โดยได้รับรายงานพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่แม่ฮ่องสอน แพร่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พะเยา น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ เลย หนองคาย และจังหวัดอุบลราชธานี เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 23,182 ราย
มีพื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหายจำนวน 88,305.25 ไร่ แยกเป็นข้าว 71,695.75 ไร่ พืชไร่ละพืชผัก14,758.75 ไร่ ไม้ผลไม้ผืนต้นและอื่นๆ 1,870.75 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2565) และขณะนี้อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าไปสำรวจความเสียหาย จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมการสำรวจและช่วยเหลือเกษตรกรรองรับภายหลังน้ำลด ทั้งการลงพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่ความเสียหาย การเตรียมผลิตพืชพันธุ์ดี และการเตรียมเชื้อราไตรโคเดอร์มา ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร
การเตรียมผลิตพืชพันธุ์ดี ดำเนินการโดยศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 ศูนย์ และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ภายใต้โครงการผลิตพืชพันธุ์ดีเพื่อสำรองในกรณีช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัยและใช้ในภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งได้ดำเนินการเพาะพันธุ์เตรียมพร้อมรับมืออยู่เป็นประจำโดยเฉพาะพืชพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมเพาะปลูกและรับประทาน อาทิ พริก มะเขือเปราะ มะเขือเทศ มะเขือยาว มะเขือพวง กะเพรา แมงลัก กระเจี๊ยบเขียว กล้วยน้ำว้า มะละกอ ทุเรียน กาแฟ กระท่อม เป็นต้น
การสนับสนุนเชื้อราไตรโคเดอร์มา มานั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจะทำการสนับสนุนหัวเชื้อชั้นขยายจำนวน 5,500 ขวด ซึ่งเมื่อนำมาขยายเป็นเชื้อราไตรโคเดอร์มา พร้อมใช้ ได้เพิ่มถึง 137,500 กิโลกรัมและสนับสนุนเชื้อราไตรโคเดอร์มา มาพร้อมใช้ อีกจำนวน 9,600 กิโลกรัม ซึ่งเชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถใช้ในการควบคุมโรคพืชได้หลายชนิด ทั้งบริเวณราก ลำต้น และใบ เช่น โรครากเน่าโคนเน่าโรคใบติดของทุเรียน โรคเน่าคอดิน โรคกาบใบแห้งของข้าว โรคเหี่ยว โรคแอนแทรคโนสของพริกเป็นต้น โดยเกษตรกรสามารถขอรับเชื้อราไตรโคเดอร์มา ได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัด และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.)
สำหรับในส่วนเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือยังคงเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 ในอัตราดังนี้ ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่ ตามพื้นที่เสียหายจริงไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ทั้งนี้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว
ขณะที่นายเศกสรรค์ สวนกูล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ มอบหมายให้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์แพร่ โดยนางรัชดาวรรณ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์แพร่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ร่วมกับนายนพดล พินิจ ปศุสัตว์จังหวัดน่าน,นายอำเภอท่าวังผา,นายประทีบ นันทะสาร หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศการปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดน่าน ,นายสุรพล เกตุวังปศุสัตว์อำเภอท่าวังผา และเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดน่าน รับมอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานจำนวน 5,000 กิโลกรัม เพื่อมอบ ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ที่ประสบภัยพิบัติ(อุทกภัย)จากพายุ “มู่หลาน”ในพื้นที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน โดยมีเกษตรกร จำนวน 22 ราย โค- กระบือ จำนวน 174 ตัว