กรมการข้าว เปิดโครงการชาวนาร่วมใจ สานสายใย“ปลูกข้าววันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ”เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม 2565 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานเปิดโครงการชาวนาร่วมใจ สานสายใย “ปลูกข้าววันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีนายขจร โนวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการผลิตข้าว เจ้าหน้าที่กรมการข้าว พร้อมด้วยบริษัทผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร สมาชิกศูนย์ข้าวชุมชนในพื้นที่(ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลโอโล ศูนย์ข้าวชุมชนลำน้ำพรมข้าวผักปัง ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านห้วยหอย) และเกษตรกรผู้สนใจ เข้าร่วมพิธีเปิด ณ วัดจอมศรี บ้านโนนดินจี่ ตำบลโอโล อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมการข้าวและคณะได้เดินเยี่ยมชมบูธนิทรรศการ แปลงสาธิตการปลูกข้าว และร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ ปล่อยปลา ที่สวนสาธารณะหนองแห้ว จากนั้นชมการสาธิตการปลูกข้าวด้วยเครื่องจักรกลสมัยใหม่รถดำนา
อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิมีพื้นที่ การเกษตร 283,471.36 ไร่ ครัวเรือนเกษตรกร 18,003 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ปลูกข้าว 160,074 ไร่ และพืชอื่นๆ 124,075 ไร่ โดยตำบลโอโลตำบลผักปัง และตำบลธาตุทอง 3 ตำบลมีพื้นที่เพราะปลูกข้าว รวม 52,148 ไร่ คิดเป็นร้อยลละ 32% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งอำเภอ 15,624 ครัวเรือน ศูนย์ข้าวชุมชนทั้ง 3 ตำบล ร่วมเป็นเครือข่ายภาคีภายใต้การกำกับดูแลของ กรมการข้าว ซึ่งได้จัดทำโครงการชาวนาร่วมใจ สานสายใย “ปลูกข้าววันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ” เฉลิมพระเกียรติ เพื่อถวาย ราชสดุดีและถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้แก่ ตำบล โอโล ตำบลผักปัง และตำบลธาตุทองอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ นอกจากนี้ข้าวยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของภาค การเกษตรในพื้นที่ทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชนทำให้เกิดมีรายได้หมุนเวียนจากการทำนาข้าวหลายครัวเรือน
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายให้มีการดำเนินงานตามมาตรการรวม 6 มาตรการคือ
1) มาตรการ ลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร
2) มาตรการ บริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning)
3) มาตรการ ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่
4) มาตรการ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า เกษตร
5) มาตรการ เกษตรอินทรีย์
6) มาตรการ ธนาคารสินค้าเกษตร สำหรับการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ข้าวไทย และมีเป้าประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวในระยะยาวให้กับชาวนาทั้งประเทศ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดความมั่นคงในอาชีพและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในที่สุด โดยขับเคลื่อนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตข้าวของชาวนา ตามมาตรการที่ 3) ระบบส่งเสริม การเกษตรข้าวชุมชน
โดยเน้นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าว โดยมีการกำหนดเขตที่ เหมาะสมต่อการปลูกข้าวแต่ละชนิดพันธุ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิต การบริหารจัดการการผลิตและการตลาด ส่งเสริมให้ชุมชนมีการบริหารจัดการในการผลิตและการตลาดอย่างมีส่วนร่วม โดยมีการบูรณาการการทำงานของ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และให้คำปรึกษาแก่ชุมชนชาวนา
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้กรมการข้าวจะต้องพัฒนางานและภารกิจต่างๆ อาทิเช่นงานด้านวิจัย กรมการข้าวจะต้องพัฒนางานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ให้เป็นไปตามความต้องการและสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยบูรณาการงานวิจัยร่วมกับภาคการศึกษา ภาคเอกชน และเกษตรกร สำหรับในส่วนด้านเมล็ดพันธุ์ จะเพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ ตั้งเป้าให้ได้ปีละ 50,000 ตัน
ด้านการส่งเสริมต้องเน้นให้เกษตรกรทำการรวมกลุ่มใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ สนับสนุนชาวนารุ่นใหม่ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ในการทำนาให้ได้กำไร ตลอดจนด้านเทคโนโลยีการแปรรูป ควรจัดหาเครื่องมือผลิตภัณฑ์และแปรรูปข้าว จัดตั้งศูนย์นข้าวชุมชนและแปรรูปข้าวครบวงจรแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าว และสามารถพัฒนากลุ่มเกษตรกร ที่ปลูกข้าวให้เป็นผู้ประกอบการ