ในการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์ฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า จีนพร้อมจะนำเข้าสินค้าคุณภาพจากอาเซียน ซึ่งรวมถึงการนำเข้าสินค้าเกษตรมูลค่า 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปีด้วย(เฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.02 ล้านล้านบาท) ซึ่งวาทะดังกล่าวถือเป็นแนวทางที่มณฑลต่าง ๆ ในจีนจะนำไปปฏิบัติสนองแนวดำริของประธานาธิบดีสีฯ
และนำมาซึ่ง “โอกาส” ให้กลุ่มสินค้าเกษตรของประเทศสมาชิกอาเซียน เมื่อนำมาผูกโยงกับ “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” ซึ่งเป็นมณฑลที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับอาเซียนในทุกมิติแล้ว โดยเฉพาะบทบาททาง “การค้า” กับอาเซียนมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เนื่องจากกว่างซีมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ติดกับอาเซียน (เวียดนาม) ทั้งทางบกและทางทะเล ถือว่าเมืองต่าง ๆ ในกว่างซีมีความกระตือรือร้นอย่างมาก ในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับอาเซียน
โดย “สวนโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นสำหรับสินค้าสดและสินค้ามีชีวิตนานาชาติอ่าวเป่ยปู้กว่างซี” หรือ Guangxi Beibu Gulf International Cold Chain Logistic Park (广西北部湾国际生鲜冷链物流园) ที่เมืองฝางเฉิงก่าง (Fangchenggang City/防城港市) ของเขตฯ กว่างซีจ้วง เป็นหนึ่งในผลผลึกของพันธกิจ Gateway to ASEAN ที่รัฐบาลกลางให้กับเขตฯกว่างซีจ้วงและเป็น 1 ใน 14 โครงการลงทุนด้านโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น เมืองฝางเฉิงก่างในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี 2564-2568) และเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการค้า (การนำเข้า) ในกลุ่มสินค้าเกษตรสดและมีชีวิตกับอาเซียนด้วย โดยสวนโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นฯ เฟสแรก เพิ่งเปิดดำเนินกิจการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
ทำความรู้จักกับ “สวนโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นสำหรับสินค้าสดและสินค้ามีชีวิตนานาชาติอ่าวเป่ยปู้กว่างซี”
พิกัดที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงเมืองท่าฝางเฉิงก่างของเขตฯ กว่างซี ตั้งอยู่ห่างจากท่าเรือฝางเฉิงก่างเพียง 15 กิโลเมตร
ผู้ลงทุน : บริษัท Guangxi Supply Chain Service Group (广西供应链服务集团) ในสังกัดบริษัท Guangxi Modern Logistics Group (广西现代物流集团)
ข้อมูลโครงการ : เนื้อที่ 750 ไร่ มูลค่าการลงทุน 4,000 ล้านหยวน ภายในมีคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ หรือคลังสินค้าห้องเย็นขนาดใหญ่ จำนวน 12 หลัง คลังสินค้าแต่ละหลังมีช่องขนถ่ายสำหรับรถบรรทุก 17 ช่องได้พร้อมกัน
ฟังก์ชันหลัก : เน้นสาขาโลจิสติกส์ในสินค้าเกษตร/สัตว์น้ำและอาหารแช่เย็นแช่แข็ง การแปรรูปและการค้าสินค้าสดและมีชีวิต ครอบคลุมฟังก์ชัน 6 ด้าน คือ คลังสินค้า การค้า กระจายสินค้า การแปรรูป การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ
(Supply Chain Finance)
คลังสินค้าห้องเย็น : ใช้ระบบทำความเย็นแบบผสมผสานระหว่างระบบทำความเย็นด้วยสารแอมโมเนียและระบบทำความเย็นด้วยสารฟลูออรีน สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ตามความต้องการของสินค้าและผู้ใช้งาน ตั้งแต่ 20 องศาเซลเซียส ไปจนถึง -25 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ อาทิ ระบบเครื่องชั่งน้ำหนัก แท่นยกสำหรับขนถ่ายสินค้าลง ประตูสไลด์และประตูม้วนที่ทำงานด้วยความรวดเร็ว และรถยกสูง (forklift)
สำหรับโครงการเฟสแรกที่เปิดดำเนินการแล้วนั้น มีพื้นที่ 250 ไร่ มูลค่าการลงทุน 1,262 ล้านหยวน คลังห้องเย็นมีความจุรวม 2 แสนตัน
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมกราคม 2565 บริษัทโลจิสติกส์ล็อตแรกได้ลงนามสัญญาเพื่อเข้าจัดธุรกิจในสวนโลจิสติกส์แห่งนี้ คิดเป็นพื้นที่คลังสินค้า 18,000 ตร.ม. และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทอีกหลายราย เช่น JD, SF Express คาดหมายว่า หากเจรจาสำเร็จ ผู้ประกอบการในเฟสแรกคิดเป็นพื้นที่ 90% ครอบคลุมทั้งศูนย์แปรรูปสินค้า คลังสินค้าทั่วไป คลังสินค้าห้องเย็นและศูนย์จัดแสดงและซื้อขายสินค้า
ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายว่า หลังจากเฟสสองเปิดดำเนินการ จะสร้างมูลค่าผลิตได้ปีละ 20,000 ล้านหยวน และเมื่อเปิดดำเนินการครบทั้งสามเฟส จะมีศักยภาพด้านการจัดเก็บและแปรรูปสินค้าได้ปีละกว่า 6 แสนตัน และมีมูลค่าการค้ามากกว่า 30,000 ล้านหยวน รองรับผู้ค้าได้มากกว่า 3,000 ราย และสร้างงานได้มากกว่า 15,000 ตำแหน่ง
นอกจากการค้าและแปรรูปสินค้าแช่เย็นแช่แข็งแล้ว เมืองฝางเฉิงก่างจะพัฒนาระบบดัชนีราคาโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น หรือ Cold Chain Logistics Price Index เพื่อกรุยทางสู่การเป็นแพลตฟอร์มการค้าผลิตภัณฑ์สินค้าแช่เย็นแช่แข็งที่มีอิทธิพลในระดับภูมิภาค(regional influence) และเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจรด้านโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นที่มีความทันสมัยระหว่างจีนกับอาเซียน
ประเด็นด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เมืองฝางเฉิงก่างเป็น “เมืองนำร่องสาธิตด้านมาตรฐานโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นในสินค้าเกษตร” ชุดแรกของประเทศจีน สวนโลจิสติกส์แห่งนี้จะนำ “ขบวนรถไฟควบคุมอุณหภูมิ”มาใช้เพื่อการลำเลียงสินค้าแทนการขนส่งด้วย“รถบรรทุก”
ปัจจุบัน เมืองฝางเฉิงก่างมีบริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าแช่เย็นแช่แข็ง (cold chain) จำนวน 8 ขบวน ไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศจีน อาทิ กรุงปักกิ่ง นครเสิ่นหยาง นครเซี่ยงไฮ้ นครฉงชิ่ง ที่สำคัญ การขนส่งทางรถไฟยังได้รับการลดอัตราค่าขนส่งเป็นพิเศษอีกด้วย โดยปริมาณการลำเลียงสินค้าแช่เย็นแช่แข็งแบบบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ทำได้สูงสุดถึง 32,000 ตัน
ปัจจุบัน เมืองฝางเฉิงก่าง กำลังเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีความครอบคลุมเพื่อรองรับการเป็นฐานโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นระดับประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาสถานควบคุมและตรวจสอบสินค้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นแช่แข็ง การขออนุมัติจัดตั้งเขตสินค้าทัณฑ์บนแบบครบวงจรเมืองฝางเฉิงก่าง การปรับปรุงอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณท่าเทียบเรือ และการฟื้นฟูเส้นทางเดินเรือขนส่งผลไม้ บ่มเพาะผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นพัฒนาระบบอุตสาหกรรมห่วงโซ่ความเย็นและห่วงโซ่อุปทานอาหารอาหารสดและมีชีวิตที่มีความครบวงจร ทั้งการแปรรูปสินค้า การเก็บรักษาความสดด้วยความเย็น และการกระจายสินค้าในระยะต่อไป สวนโลจิสติกส์แห่งนี้จะประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะบริษัทโลจิสติกส์ บริษัทแปรรูปสินค้า และบริษัทที่ทำการค้าสินค้าเกษตรและสินค้าแช่เย็นแช่แข็ง พร้อมกับการหาแหล่งสินค้าและตลาดลูกค้าใหม่ในพื้นที่ภาคตะวันตก
“ฝางเฉิงก่าง” เป็นเมืองที่ตั้งอยู่สุดขอบแนวชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันตกของจีน มีพรมแดนติดกับประเทศเวียดนามทั้งทางบกและทางทะเล จึงมีด่านการค้าสำคัญอย่างด่านท่าเรือฝางเฉิงก่าง (1 ใน 25 ท่าเรือทะเลที่สำคัญของจีน)และด่านทางบกตงซิง โดยด่านทั้งสองแห่งมีฟังก์ชันพิเศษที่ได้รับจากส่วนกลาง ทั้งด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ (2 ด่าน คือ ด่านท่าเรือฝางเฉิงก่างและด่านทางบกตงซิง) ด่านนำเข้าธัญพืช(ข้าว)จากต่างประเทศ ด่านนำเข้าต้นไม้สำหรับจัดภูมิทัศน์ ด่านนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำมีชีวิตและด่านนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็น
ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นเมืองท่าสินค้าเทกองแล้ว เมืองฝางเฉิงก่างได้พยายามพัฒนาบทบาทของตนเองใน “อุตสาหกรรมการประมงสัตว์น้ำ” อย่างต่อเนื่อง โดยผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทะเล เป็นหนึ่งในสินค้านำเข้าสำคัญของเมืองฝางเฉิงก่าง โดยเฉพาะเมืองที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างอำเภอระดับเมืองตงซิง มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ(จากเวียดนาม) เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปลาดาบ ปลาเผาะ กุ้ง และปลาหมึก เพื่อนำมาแปรรูปในโรงงานท้องถิ่นหรือส่งกระจายต่อไปยังพื้นที่อื่นในประเทศจีน
เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกลางจีนอนุมัติให้พื้นที่ “เขตเศรษฐกิจท่าเรือประมงเมืองฝางเฉิงก่าง” เป็น 1 ใน 15 จุดทดลองเขตเศรษฐกิจท่าเรือประมงเลียบชายฝั่งทะเลระดับชาติ ซึ่งเปิดสู่อาเซียนด้วย
เมื่อพิจารณาในแง่ของศักยภาพการแข่งขันและมีจุดแข็งด้านกระบวนการผลิตของธุรกิจประมงและการแปรรูปสัตว์น้ำของไทยที่มีมาตรฐานทัดเทียมกับสากลแล้ว เมืองฝางเฉิงก่างจะเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทยในการ “ก้าวออกไป” พัฒนาการค้าและการลงทุน โดยใช้จุดแข็งดังกล่าวและใช้ประโยชน์จากระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพในการขยายตลาดลูกค้าไปยังพื้นที่ทั่วประเทศจีนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
ที่มาข้อมูลจัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง