มาเลย์ขึ้นท้าชิง “ตลาดรังนก” ในตลาดจีน..แล้วรังนกไทยแข่งขันได้หรือไม่

ประเทศจีนเป็นประเทศที่บริโภค “รังนก” มากที่สุดในโลก ข้อมูลทางโบราณคดีชี้ว่า รังนกเริ่มเข้าสู่ประเทศจีนจากเกาะบอร์เนียวเหนือ (รัฐซาบาห์ มาเลเซีย) ในสมัยราชวงศ์ถัง ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิง ความก้าวหน้าด้านการเดินเรือสมุทร ทำให้ “รังนก” เข้าสู่ประเทศจีนเพิ่มมากขึ้นและสมัยราชวงศ์ชิง รังนก ได้รับความนิยมแพร่หลายจากชาวจีน และในปัจจุบันกว่า 90% ของรังนกที่ผลิตได้จากทั่วโลกถูกส่งไปจำหน่ายในประเทศจีน โดยรัฐบาลจีนไฟเขียวให้มีการนำเข้ารังนกจาก 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย

“รังนกนางแอ่น” ได้รับการขนานนามเป็น “คาร์เวียร์แห่งโลกตะวันออก” ด้วยสรรพคุณทางยาตามความเชื่อในศาสตร์แพทย์แผนจีนที่สืบทอดมายาวนาน จึงเป็นอาหารบำรุงกำลังชั้นยอดในสายตาของผู้บริโภคชาวจีน มูลค่าทางเศรษฐกิจของ “รังนก” และทำให้ “ซุปรังนก” เป็นอาหารราคาแพงติด 1 ใน 10 ของโลก

swallow
ตลาดรังนกในจีน..ท้าทายไทย

ตลาดรังนกจีน มีสถิติที่น่าสนใจใน 2564 ดังนี้

ปี 2564 ตลาดรังนกในประเทศจีนมีมูลค่าทะลุ 40,000 ล้านหยวน หรือกว่า 200,000 ล้านบาท โดยตลาดผู้บริโภคหลัก 4 สาขา ได้แก่ ตลาดสตรีมีครรภ์ ตลาดคนรักสุขภาพ ตลาดของกำนัล และตลาดอาหารทั่วไป

ข้อมูลจากศุลกากร พบว่า ปี 2564 จีนนำเข้ารังนก (พิกัด 4100010) คิดเป็นน้ำหนักรวม 352.5 ตัน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากอินโดนีเซีย (สัดส่วน 62.96%) และมาเลเซีย (สัดส่วน 36.96%) ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนเพียง 0.08% โดยมณฑลที่มีปริมาณการนำเข้ารังนกเป็นจำนวนมาก ได้แก่ กวางตุ้ง ฝูเจี้ยน เซี่ยงไฮ้ เจ้อเจียง ปักกิ่ง และกว่างซี

ข้อมูลจาก Chinese Academy of Inspection and Quarantine หรือ CAIQ ระบุว่า ปี 2564 รังนกนำเข้าที่เข้าระบบตรวจสอบย้อนกลับของ CAIQ มีรังนกเพื่อการบริโภคคิดเป็นน้ำหนักรวม 331.1 ตัน เครื่องดื่มรังนก 25.9 ตัน รังนกขน 17.8 ตัน มีบริษัทต่างชาติที่เข้าระบบของ CAIQ แล้ว จำนวน 71 ราย เพิ่มขึ้น 20.34% และบริษัทจีน 100 ราย เพิ่มขึ้น 33.33%

รังนก นำเข้าที่เข้าระบบของ CAIQ เป็นรังนกที่มีแหล่งกำเนิดจากอินโดนีเซียมากที่สุด คิดเป็นน้ำหนัก 228.5 ตัน (ลดลง 14% จากปีก่อนหน้า) และมาเลเซีย 102.5 ตัน (เพิ่มขึ้น 47.05% จากปีก่อนหน้า) โดยทั้งสองประเทศมีสัดส่วน 99.85% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด

การนำเข้ารังนกของเมืองชินโจวเขตฯ กว่างซีจ้วง มีปริมาณ ทั้งรังนกขน รังนกบริสุทธิ์ และผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป มีการเติบโตอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น 60.8% และมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้น 60.4% และจำนวนโรงงานแปรรูปรังนกขนจากต่างประเทศที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมีสัดส่วน 70% ของทั้งประเทศจีน

รู้แล้วบอกต่อ… รังนก เป็น 1 ใน 18 กลุ่มรายการสินค้าอาหารที่ผู้ผลิต (ครอบคลุมผู้ผลิต ผู้แปรรูป และสถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์อาหาร) จะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC จึงจะสามารถส่งออกไปประเทศจีนได้ ตามคำสั่งศุลกากรแห่งชาติจีน ที่ 248 เกี่ยวกับระเบียบว่าด้วยการบริหารจัดการขึ้นทะเบียนบริษัทผู้ผลิตอาหารนำเข้าในต่างประเทศแห่งประเทศจีน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา

นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบการรังนกไทย ที่จะส่งออกไปประเทศจีนจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนกับ GACC จึงจะสามารถส่งออกไปประเทศจีนได้ การขึ้นทะเบียนดังกล่าว มีอายุ 5 ปี และการขอต่ออายุจะต้องส่งเอกสารให้ GACC พิจารณาล่วงหน้า 3 – 6 เดือนก่อนทะเบียนจะหมดอายุ หากมิได้ดำเนินการยื่นขอต่ออายุตามที่กำหนด จะถูกยกเลิกการขึ้นทะเบียนสถานะ ปัจจุบันประเทศไทยมีถ้ำรังนก จำนวน 21 แห่ง และบริษัทแปรรูปรังนก 3 ราย (บริษัท Siam South Sea Bird’s Nest จำกัด / บริษัท Siam International Bird Nest จำกัด ) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับศุลกากรแห่งชาติจีนแล้ว

ปัจจุบัน นอกจากผลิตภัณฑ์รังนกพร้อมดื่มสำเร็จรูป และรังนกบริสุทธิ์ (รังนกที่ผ่านกระบวนการคัดทำความสะอาดแล้ว) แล้ว “มาเลเซีย” เป็นประเทศเดียวที่ได้รับสิทธิเหนือชาติอื่น ๆ ในการส่งออก “รังนกขน” (รังนกดิบที่ยังไม่ได้คัดขน) ไปยังตลาดจีนได้โดยสามารถส่งออกไปที่“เมืองชินโจว”(Qinzhou City )ของเขตฯกว่างซีจ้วงและเมืองเซี่ยเหมินของมณฑลฝูเจี้ยนได้เท่านั้น โดยมีการประเมินว่า ตลาดรังนกดิบในจีนน่าจะมีมูลค่าแตะหลักแสนล้านบาทต่อปี

ทำไมต้อง “ชินโจว” นั่นเพราะว่า… เมืองชินโจวเป็นที่ตั้งของ “ด่านการนำเข้ารังนกขน” และเป็นที่ตั้งของ “สวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนกแบบครบวงจร” ที่แรกในจีนในนิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย โดยเน้นการแปรรูปรังนกขั้นกลางน้ำ-ปลายน้ำ และวัตถุดิบนำเข้ามาจากมาเลเซียเป็นหลัก และเป็นที่ตั้งของ “Lab ทดสอบรังนกและโภชนาการอาหารเสริมสุขภาพ” ที่เดียวในจีนไตรมาสแรก ปี 2565 เมืองชินโจวนำเข้ารังนกคิดเป็นน้ำหนักรวม 4.08 ตัน เพิ่มขึ้น 349.8% (YoY) มูลค่านำเข้าราว 30 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 280.8% (YoY)

ปัจจุบัน มีบริษัทรังนกจีนและต่างประเทศที่ตั้งโรงงานแล้ว 22 ราย รวมถึงโรงงานอัจฉริยะแห่งแรกของโลกที่มีชื่อว่า BoYan Super Factory (铂燕超级工厂) ของนักลงทุนใหม่จากเมืองตงก่วน มณฑลกวางตุ้ง

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมพาณิชย์เขตฯ กว่างซีจ้วง เทศบาลเมืองชินโจว และคณะกรรมการบริหารเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยชินโจว จึงได้ประสานความร่วมมือในการจัด “เทศกาลรังนกมาเลเซีย” ที่เมืองชินโจว ซึ่งเป็นกิจกรรม ส่วนหนึ่งของ “แคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายของเขตฯ กว่างซีจ้วง” (ที่ผ่านมา มีการแจกคูปองแทนเงินสด เงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น) เพื่อตอกย้ำชื่อเสียงของ “รังนกมาเลย์” ให้อยู่ในใจของผู้บริโภคชาวจีน และสร้างชื่อเสียงฐานอุตสากรรมรังนกให้ของเมืองชินโจว

“หลายปีมานี้ มาเลเซียให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์นกแอ่นกินรัง (Aerodramus) และการพัฒนาการเลี้ยงนกแอ่นอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ผลักดันให้รังนกบ้านได้รับการรับรองตามกฎหมาย ส่งเสริมการเลี้ยงนกแอ่นให้ปลอดภัยถูกสุขอนามัยและเป็นมาตรฐานและรังนกส่งออกสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมให้ผู้ที่ดำเนินธุรกิจรังนกในท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมและพัฒนาธุรกิจรังนก ส่งเสริมให้รังนกไปขยายตลาดการค้าในประเทศจีน” คำกล่าวในพิธีเปิดงานเทศกาลรังนกผ่านระบบออนไลน์ของกงสุลใหญ่มาเลเซียประจำนครหนานหนิง นับเป็นความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมรังนกมาเลเซียที่ประเทศไทยควรติดตาม

ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “สวนอุตสาหกรรมรังนก” แม้ว่าจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมจีน-มาเลเซีย แต่ก็เปิดกว้างต้อนรับนักลงทุนทั่วโลก ไม่ได้จำกัดเฉพาะชาวจีนกับชาวมาเลย์เท่านั้น สวนอุตสาหกรรมแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่ง “ทางเลือก” ของนักธุรกิจรังนก(ไทย) ที่มีความพร้อมและมองเห็นโอกาส(ทอง)เข้าจับจอง “สวนอุตสาหกรรมรังนกเมืองชินโจว” ในการเป็นฐานการผลิตภัณฑ์รังนกเพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคชาวจีนได้ง่ายยิ่งขึ้น

การเข้าไปจัดตั้งธุรกิจในสวนอุตสาหกรรมฯ นอกจากความได้เปรียบเชิงกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งที่ใกล้แหล่งผลิตในอาเซียน ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ สวนอุตสาหกรรมแห่งนี้ยังได้รับนโยบายสนับสนุนจากส่วนกลาง เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจว มีสิทธิประโยชน์ “ลด แลก แจก แถม” สำหรับนักลงทุน

ตัวอย่างเช่น การลด/ยกเว้นค่าเช่าที่ดินและอาคารโรงงาน ภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราพิเศษ 15% (อัตราทั่วไป 25%) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนที่ต้องนำส่งรัฐบาลท้องถิ่น (40% ของภาษีที่ต้องชำระ) แคมเปญจ่ายเงินรางวัล/เงินอุดหนุน การสนับสนุนระบบตรวจสอบย้อนกลับ การอำนวยความสะดวกเรื่องการตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับนักลงทุนชาติ รวมถึงการหาสินเชื่อสกุลเงินหยวนจากธนาคารจีนที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ (Offshore RMB Load Backflow) ซึ่งเป็นการเสริมทางเลือกให้กับนักลงทุนในกรณีที่ธนาคารจีนในต่างประเทศมีอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อต่ำกว่าธนาคารในประเทศ

เห็นว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยควรตื่นตัวและติดตามพัฒนาการข้างต้นอย่างทันท่วงที การส่งออกผลิตภัณฑ์รังนกของไทยส่วนใหญ่เป็น “ผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป” ซึ่งได้รับความนิยมในตลาดผู้บริโภคชาวจีน โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มออนไลน์ (สินค้าไทยขายดีอันดับ 1 ในช่วงเทศกาลช็อปปิ้ง 11.11 บน Tmall)

อย่างไรก็ดี การแข่งขันในตลาดรังนกจีนก็มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น การเปิดตลาดธุรกิจรังนกของรัฐบาลจีนได้ดึงดูดให้นักลงทุนเข้าจัดตั้งโรงงานแปรรูปในจีนเพิ่มมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อ “ผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป” ที่ส่งออกจากไทยขาดแรงแข่งขัน ยังไม่นับรวมพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีน ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์รังนก และรูปแบบการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์รังนกที่ผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะรังนกตุ๋นสด รังนกพร้อมตุ๋น และรังนกสูตรเข้มข้น ที่กระแสไม่ตกในประเทศจีน

เมื่อคำนึงถึงความพร้อมของสวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนกที่เมืองชินโจว นักลงทุนไทยสามารถพิจารณาการเข้ามาจัดตั้งธุรกิจในสวนดังกล่าวได้ โดยแหล่งวัตถุดิบสามารถนำเข้าจากทั้งไทย (ถ้ำรังนกที่ได้รับอนุญาตยังมีน้อย) หรือจะเป็นอินโดนีเซีย และมาเลเซีย (ถ้ำรังนกที่ได้รับอนุญาตมีจำนวนมาก)

ที่สำคัญ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องพัฒนาความโดดเด่นและต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า การสร้างเรื่องราวให้กับตัวสินค้า การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่โดนใจ และการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งการทำคลิปลงสื่อโซเชียลและการไลฟ์สด เพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตภัณฑ์รังนกที่ครองตลาดมาก่อน รวมทั้งการเอาใจใส่ในเรื่องคุณภาพเพื่อตอกย้ำความเป็น Products of Thailand

เขียนโดยนายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง