เสวนา “เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ” ขับเคลื่อนงานด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคเกษตรให้เกิดผลเชิงรูปธรรม

วันที่ 6 สิงหาคม 2565 ดร.พงศ์ไท ไทโยธิน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ได้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ (Climate Smart Agriculture: CSA) โดยมีนางนิตยา รื่นสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าว กรมการข้าว และนายสุรศักดิ์ ใจโปร่ง เกษตรกรจาก อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นเกษตรกรในโครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ โดยมีนางสายรัก ไชยลังกา ผู้อำนวยการส่วนวิจัยเศรษฐกิจเทคโนโลยีทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อม สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร เป็นผู้ดำเนินรายการ

a201902156
การเกษตรกับภูมิอากาศ

ประเด็น-การเสวนาประกอบด้วย ความท้าทายของภาคเกษตรที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี 2030 ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ภายใต้ความตกลงปารีส ความเชื่อมโยงของเป้าหมาย CSA กับเป้าหมายยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคเกษตร กลไกการขับเคลื่อนแผนการปฏิบัติงานฯ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เกษตรกรรม มีบทบาทที่ซับซ้อนต่อการเกิดภาวะโลกร้อน โดยเป็นทั้งแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นแหล่งสะสมคาร์บอน (carbon sink, carbon storage, carbon sequestration) กิจกรรมทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกจากนาข้าวและพื้นที่ปศุสัตว์

ส่วนการเป็นแหล่งสะสมคาร์บอนในพื้นที่เกษตร หมายถึงการเก็บสะสมคาร์บอนในพืชและในดินผ่านกิจกรรมการเกษตรต่าง ๆ เช่น การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ การปรับปรุงดินโดยใช้วัสดุอินทรีย์หรือวัสดุที่มีคาร์บอนสูง และการส่งเสริมระบบวนเกษตร รวมไปถึงการลดกิจกรรมที่เร่งการทำลายคาร์บอนในดิน โดยเฉพาะการเผาเศษซากพืชในพื้นที่เพาะปลูก

การลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรมเป็นแนวทางที่ประชาคมโลกกำลังให้ความสนใจเนื่องจากเป็นแนวทางที่มีศักยภาพเชิงต้นทุน (คุ้มค่าในการลงทุน) อย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ภาคพลังงาน ภาคขนส่ง และภาคป่าไม้ เป็นต้น และยังมีแนวโน้มจะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว (long-term climate objectives) ได้อีกด้วย

รวมถึงการดำเนินงานโครงการ Thai Rice NAMA เพื่อการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนและลดการปล่อยก๊าซฯ และการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากมูลสัตว์ของภาคปศุสัตว์ โครงการข้าวยั่งยืนที่เน้นเทคโนโลยีการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง (Alternate Wetting and Drying: AWD) ที่เป็นการบริหารจัดการระดับน้ำในนาข้าวในแต่ละช่วงอายุข้าว ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการขังน้ำที่เป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซมีเทน และลดการใช้ปุ๋ย และการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 ทฤษฎีใหม่ โดยทำการผลิตสินค้าเกษตรที่หลากหลายช่วยลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี (โดยเฉพาะในช่วงที่ปุ๋ยเคมีมีราคาแพง)ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาได้ฝากประเด็นที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคเกษตรเพื่อให้เกิดผลในเชิงรูปธรรม ได้แก่ การบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน การตลาดนำการผลิต และการตระหนักรู้และการเปิดกว้าง สำหรับองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้สามารถรองรับปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้การเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference) ระหว่างวันที่ 5 – 6 สิงหาคม 2565 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ กรุงเทพฯ