ผลกระทบ 5 กลุ่มสินค้าเกษตรไทย หากจีนเบนเข็มหนีกำแพงภาษีสหรัฐฯ มาไทย

201


วันที่ 28เม.ย.68 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศในยุคทรัมป์ 2.0 จากการที่สหรัฐฯ มีนโยบายเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นจากสินค้านำเข้า รวมถึงยกเลิกมาตรการยกเว้นภาษีขั้นต่ำ (De Minimis) ต่อสินค้าจีน และ จีนตอบโต้กลับโดยปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงเช่นเดียวกันนั้น จะส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม

กรณีสินค้าที่ต้องเฝ้าระวัง การเบี่ยงเบนทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่จีนมีศักยภาพ และไทยก็ปลูกได้เอง แต่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ และบางครั้งจำเป็นต้องนำเข้า

ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ ผู้ประกอบการและเกษตรกรไทย ต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางกลุ่มอาจได้รับประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้สำหรับแปรรูปในราคาถูกลง เช่น

กระเทียมสดหรือแช่เย็น (HS 0703.20) จีนเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ส่งออกเป็นปริมาณ 2.35 ล้านตัน และสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 7 ของจีน (จีนส่งออกไปสหรัฐฯ 62,739 ตัน) สำหรับไทย ในปีเพาะปลูก 2566/67 มีผลผลิตกระเทียมอยู่ที่ 53,714 ตัน ขณะที่มีปริมาณการใช้ในประเทศ 106,926 ตัน ไทยจึงเป็นผู้นำเข้าสุทธิ โดยในปี 2567 ไทยนำเข้ากระเทียม 23.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณ 47,352 ตัน (และไทยส่งออก 1.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณ 856 ตัน) โดยนำเข้าจากจีนเกือบทั้งหมด สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน จึงอาจส่งผลให้กระเทียมจากจีนเข้ามาไทยมากขึ้น

พืชผักอื่น ๆ ที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย (HS 2005.99) จีนเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ส่งออกเป็นปริมาณ 840,754 ตัน และสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของจีน (จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ 84,147 ตัน) สำหรับไทย สินค้ากลุ่มนี้ไทยเป็นผู้ส่งออกสุทธิ ในปี 2567 ไทยส่งออกและนำเข้าเป็นมูลค่า 76.4 และ 8.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ขณะที่จีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 สินค้ากลุ่มนี้จึงมีโอกาสนำเข้ามากขึ้นเพื่อแปรรูปและส่งออก

พริกแห้ง หรือพริกไทยเทศแห้งทั้งเม็ด (HS 0904.21) จีนเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย (ขณะเดียวกันจีนเป็นผู้นำเข้าอันดับ 1 ของโลก) จีนส่งออกเป็นปริมาณ 85,103 ตัน ซึ่งไทยและสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 และ 4 ของจีน มีปริมาณ 15,366 และ 6,164 ตัน ตามลำดับ สินค้ากลุ่มนี้ไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิ ในปี 2567 ไทยส่งออกและนำเข้าเป็นมูลค่า 4.0 และ 201.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ส่งออกและนำเข้าเป็นปริมาณ 893 และ 86,006 ตัน) ตามลำดับ ซึ่งปัจจุบัน ไทยนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากอินเดียมากที่สุด แต่สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน อาจส่งผลให้ไทยมีการนำเข้าจากจีนเพิ่มมากขึ้น

ชาเขียวอื่น ๆ ไม่หมัก (HS 0902.20) จีนเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ส่งออกเป็นปริมาณ 202,641 ตัน สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 6 ของจีน (จีนส่งออกไปสหรัฐฯ 4,583 ตัน) และจีนเป็นแหล่งนำเข้าชาเขียวที่สำคัญของสหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 (รองจากญี่ปุ่น) สำหรับไทย สินค้ากลุ่มนี้ไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิ ในปี 2567 ไทยส่งออกและนำเข้าเป็นมูลค่า 2.6 และ 7.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ส่งออกและนำเข้าเป็นปริมาณ 456 และ 6,301 ตัน) ตามลำดับ ซึ่งปัจจุบัน ในเชิงมูลค่าไทยนำเข้าชาเขียวจากญี่ปุ่นมากที่สุด แต่ในเชิงปริมาณไทยนำเข้าจากจีนมากที่สุด ซึ่งสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน อาจส่งผลให้สินค้ากลุ่มนี้จากจีนเข้ามาไทยมากขึ้น

หอมหัวใหญ่แห้งหรือผง (HS 0712.20) จีนเป็นผู้ส่งออกอันดับ 4 ของโลก (รองจากอินเดีย สหรัฐฯ และอียิปต์) จีนส่งออกเป็นปริมาณ 15,064 ตัน ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของจีน (จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ 2,363 ตัน) สำหรับไทย สินค้ากลุ่มนี้ไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิ ในปี 2567 ไทยส่งออกและนำเข้าเป็นมูลค่า 0.9 และ 6.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ส่งออกและนำเข้าเป็นปริมาณ 810 และ 1,652 ตัน) ตามลำดับ ซึ่งปัจจุบัน ไทยนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากสหรัฐฯ มากที่สุด (942 ตัน) รองลงมา คือ จีน (485 ตัน) ซึ่งสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน อาจส่งผลให้สินค้ากลุ่มนี้จากจีนเข้ามาไทยมากขึ้น

นายพูนพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า อัตราภาษีระหว่างสหรัฐฯ-จีน ยังคงมีความไม่แน่นอน รวมถึงอัตราภาษีระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ด้วย ซึ่ง สนค. ยังคงติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าและมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ 2.0 อย่างใกล้ชิด เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าไทย