กระทรวงเกษตรฯ ชู “การฝึกอบรมหลักสูตร นักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับสูง รุ่นที่ 89” พัฒนาบุคลากร นำนโยบายสู่การปฏิบัติได้จริง

1349105

นายธิติ โลหะปิยะพรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานปิดการฝึกอบรมหลักสูตร นักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับสูง รุ่นที่ 89 โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้อง Ballroom AB ชั้น 2 โรงแรมมารวย การ์เด้น แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสถาบันเกษตราธิการได้จัดอบรมหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับสูง รุ่นที่ 89 ซึ่งดำเนินการฝึกอบรมตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม – 25 เมษายน 2568 ระยะเวลารวมทั้งสิ้น 28 วัน มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจำนวน 100 คน จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ระดับสูง มีความพร้อมในการเป็นผู้นำทีม และพร้อมที่จะก้าวสู่ตำแหน่งประเภทอำนวยการ หรือตำแหน่งอื่นในระดับเดียวกัน โดยสามารถปรับแนวคิด มุมมอง การสื่อสาร บุคลิกภาพ วิธีการทำงาน ตลอดจนวิธีการแก้ปัญหา รองรับภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบที่สูงขึ้น เหมาะสมสอดคล้องกับการบริหารองค์กรภาครัฐในบริบทที่มีความเปลี่ยนแปลงและความท้าทาย มีความพร้อมทางด้านภาวะผู้นำ การบริหารการเปลี่ยนแปลง คุณธรรมจริยธรรม มีทัศนคติ ทักษะ ความสามารถและสมรรถนะทางการบริหาร และเป็นแบบอย่างที่ดี รวมทั้งเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจและมีทัศนคติที่เหมาะสมในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เข้าใจตนเองและผู้อื่น สามารถใช้กระบวนการสร้างเครือข่ายและระบบพันธมิตรเพื่อบูรณาการการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถถ่ายทอดนโยบายจากระดับสูงไปสู่ระดับปฏิบัติในหน่วยงานที่ตนรับผิดชอบได้อย่างถูกต้องชัดเจน

1349107

สำหรับการฝึกอบรมฯ ได้จัดในรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน ทั้ง Online และ Onsite ประกอบด้วย 1) กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ การบรรยาย อภิปราย เสวนา ฝึกปฏิบัติ และการทำรายงานกลุ่ม เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของวิชาตามหมวดที่กำหนดและเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2) กิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์นักบริหารเชิงประจักษ์ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน คือการลงพื้นที่ศึกษาดูงานฟาร์มเกษตร แปลงเกษตร โรงงาน โกดังสินค้า สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ฯลฯ ที่ทำสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยให้ผู้เข้าอบรมลงพื้นที่ศึกษาปัจจัยความสำเร็จ และการทดลองใช้เครื่องมือทางการวิเคราะห์ในเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ปัญหา อุปสรรค และการประมวลผล สามารถนำข้อมูลไปจัดทำเป็นแผนงานและข้อเสนอแนะได้ 3) การจัดทำรายงานการศึกษากลุ่ม ภายใต้โครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมุ่งเน้นศึกษาปัญหาและศักยภาพของผลิตภัณฑ์หรือสินค้าทางด้านการเกษตรมูลค่าสูง ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทำการวิเคราะห์และเสนอกลยุทธ์การผลิตภัณฑ์หรือสินค้าทางด้านการเกษตรมูลค่าสูง ให้เกิดการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มโอกาสการตลาดในต่างประเทศ จัดทำต้นแบบหรือเสนอต้นแบบผลิตภัณฑ์หรือสินค้าทางด้านการเกษตรมูลค่าสูงที่พัฒนาแล้ว และจัดทำรายงานในรูปแบบแผนพัฒนาธุรกิจผลิตภัณฑ์หรือสินค้าทางด้านการเกษตรมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก และในวันนี้จะเป็นการนำเสนอรายงานกลุ่มรูปแบบแผนพัฒนาธุรกิจผลิตภัณฑ์หรือสินค้า (business model canvas) ทางด้านการเกษตรมูลค่าสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลักดันสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก และนำเสนอในรูปแบบการออกบูธนำเสนอผลงานต้นแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าด้านการเกษตรมูลค่าสูง ต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และทูตเกษตร ซึ่งได้รับเกียรติจากนางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมรับชมการนำเสนอในครั้งนี้ด้วย

1349109