กรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือห้างตรึงราคาหมู เข้มห้ามเอาเปรียบผู้บริโภค

o 1g8521oge17bl1g4n192i18juda


วันที่ 22 เมษายน 2568 นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์การผลิตและภาวะการค้าสุกรและเนื้อสุกรทั้งระดับค้าส่งและค้าปลีกอย่างใกล้ชิดและให้แก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน กรมฯ ได้หารือร่วมกับกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเป็นประจำ พบว่าปริมาณสุกรออกสู่ตลาดลดลง โดยออกสู่ตลาดเฉลี่ยวันละประมาณ 60,000 ตัว แต่ยังคงเพียงพอต่อการบริโภคที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ปริมาณสุกรออกสู่ตลาดลดลง มาจากสภาพอากาศร้อนจัดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ส่งผลให้สุกรโตช้า น้ำหนักเฉลี่ยก่อนเข้าฆ่าลดลง อีกทั้งยังมีการสูญเสียในระหว่างการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง

นอกจากนี้ เกษตรกรยังต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากค่าน้ำและค่าไฟฟ้า ซึ่งเพิ่มขึ้นจากความจำเป็นในการควบคุมอุณหภูมิภายในฟาร์ม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน

อย่างไรก็ตาม ราคาประกาศสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในสัปดาห์นี้ยังคงทรงตัวต่อเนื่อง อยู่ที่ 88 บาท โดยแนวโน้มราคาจะยังคงทรงตัวต่ออีกระยะหนึ่ง ก่อนจะเริ่มปรับลดลงเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนที่มีสภาพอากาศเหมาะสมต่อการเลี้ยง และเป็นไปตามรอบการผลิต“

นายวิทยากร กล่าวต่อว่า “ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ประชุมร่วมกับห้างค้าส่งและค้าปลีก ให้ตรึงราคาจำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละ หากมีความจำเป็นต้องปรับราคาขึ้น จะต้องแจ้งให้กรมฯ ทราบล่วงหน้า เพื่อที่กรมฯ จะได้เข้าหารือและเจรจากับผู้ผลิตรายใหญ่ เพื่อควบคุมต้นทุนไม่ให้กระทบผู้บริโภค

นอกจากนี้ กรมการค้าภายในได้มีมาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค โดยมีการจำหน่ายเนื้อสุกรราคาต่ำกว่าท้องตลาดในงานธงฟ้าราคาประหยัด ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและภูมิภาค เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน พร้อมทั้งเชื่อมโยงเนื้อสุกรแดงเข้าสู่โมบายธงฟ้าและงานธงฟ้าทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเนื้อสุกรคุณภาพในราคาย่อมเยา

“ทั้งนี้ กรมการค้าภายในยังคงติดตามสถานการณ์ราคาสุกรและเนื้อสุกรอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด หากพบว่าผู้ค้ารายใดมีพฤติกรรมจำหน่ายสินค้าในราคาสูงเกินสมควร ประชาชนสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1569 หากพบการกระทำผิดจะมีโทษตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มีโทษปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายวิทยากร กล่าวทิ้งท้าย