วันที่ 21 เมษายน 2568 นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า“กรมการค้าภายในได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมายเป็นชุดเฉพาะกิจ ปูพรมติดตามการรับซื้อสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่แหล่งปลูกทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้พ่อค้ารายใหญ่กดราคารับซื้อของเกษตรกร โดยปัจจุบันทั้งสินค้ายางพาราและปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก และมีบทบาทสำคัญต่อรายได้ของเกษตรกรไทยจำนวนมาก การซื้อขายสินค้าเกษตรดังกล่าวเป็นการซื้อขายระหว่างเกษตรกรและพ่อค้ารายใหญ่ ซึ่งการซื้อขายที่ไม่เป็นธรรมจะทำให้เกษตรกรเสียเปรียบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่สินค้าเกษตรมีปริมาณมากและมีพ่อค้ารับซื้อน้อยราย กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในจึงได้มีการกำกับดูแลการรับซื้อทั้งในด้านบริหารและด้านกฎหมาย โดยสินค้ายางพาราและปาล์มน้ำมัน เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) และมีมาตรการอย่างเข้มงวดให้ผู้ประกอบการรับซื้อ ดำเนินการตามกฎหมาย อาทิ ต้องมีการแจ้งปริมาณการครอบครอง ปริมาณการรับซื้อ การจำหน่าย การใช้ ปริมาณคงเหลือ และสถานที่เก็บ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ทุกเวลา เพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้เกิดการลักลอบขนย้าย หรือการกักตุนสินค้า รวมถึงกฎหมายว่าด้วยชั่งตวงวัด ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในการกำกับดูแลการใช้เครื่องชั่งโดยเฉพาะเครื่องชั่งสินค้าเกษตรให้มีความเที่ยงตรงและได้มาตรฐาน เพื่อไม่ให้เกษตรกรเสียเปรียบในเรื่องของน้ำหนักของสินค้าเกษตร”
นายวิทยากร กล่าวเพิ่มเติมว่า“ปัจจุบันกรมมีการติดตามสถานการณ์สินค้ายางพาราและปาล์มน้ำมันอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันราคาสินค้ายางพารามีการปรับตัวลดลง ในขณะที่ราคาปาล์มน้ำมันในประเทศยังคงทรงตัว โดยราคาผลปาล์มเฉลี่ยอยู่ที่ 5.60 บาทต่อกิโลกรัม อยู่ในช่วงระหว่าง 5.30 – 5.90 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในประเทศไทยอยู่ที่33.35 บาทต่อกิโลกรัม และราคาของประเทศมาเลเซียอยู่ที่ 32.66 บาทต่อกิโลกรัม”
สำหรับปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มในประเทศอยู่ที่ 242,000 ตัน ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย(234,000 ตัน) โดยสาเหตุที่ราคารับซื้อปาล์มน้ำมันในช่วงนี้ยังไม่ปรับตัวสูงขึ้น มาจากผลกระทบของช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับโรงงานสกัดบางส่วนใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในการปิดปรับปรุงระบบการผลิต ส่งผลให้ปริมาณการรับซื้อผลปาล์มลดลงชั่วคราว ด้วยเหตุดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร กรมฯ จึงได้เร่งติดตามและควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยกำชับให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดและสำนักงานชั่งตวงวัดในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ออกไปติดตามตรวจสอบสถานการณ์การรับซื้อยางพาราและปาล์มน้ำมันในพื้นที่ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยจะมีการตรวจสอบสต๊อกน้ำมันปาล์มในโรงงานสกัด ลานเท และจุดรับซื้อต่าง ๆ โดยจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จริง เพื่อตรวจสอบการรับซื้อ การติดป้ายแสดงราคาที่ชัดเจน และการใช้งานเครื่องชั่งให้เป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเป็นธรรมต่อเกษตรกร
โดยในส่วนของการตรวจสอบในพื้นที่ กรมการค้าภายในได้จัด ชุดเฉพาะกิจ ลงพื้นที่อย่างเข้มข้น โดยชุดที่ 1 ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชแล้วเรียบร้อย ส่วนชุดที่ 2 มีกำหนดลงพื้นที่จังหวัดกระบี่และตรัง ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน เป็นต้นไป
นอกจากนี้ชุดตรวจสำนักงานพาณิชย์จังหวัด (ชตว.สาขา) ที่ลงพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดสุราษฎร์ธานี (นครศรีธรรมราช),ชุมพร (ระนอง), เพชรบุรี (ประจวบคีรีขันธ์), สงขลา (พัทลุง, สตูล), กระบี่ (ตรัง), ยะลา (ปัตตานี, นราธิวาส) และภูเก็ต (พังงา) โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2568
นายวิทยากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การรับซื้อสินค้าเกษตรโดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ต้องเป็นไปตามกฎหมายของกรมการค้าภายใน ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่ได้กำหนดให้ผู้จำหน่ายสินค้าต้องแสดงราคาจำหน่าย ณ ที่จำหน่ายอย่างชัดเจน หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษปรับสูงสุด 10,000 บาท (มาตรา 28) และยังห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจจงใจทำให้ราคาต่ำเกินสมควรหรือสูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการ (ตามมาตรา 29) และห้ามมิให้บุคคลใดกักตุนสินค้าควบคุม โดยมีสินค้าควบคุมไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่กำหนด หรือเก็บสินค้าควบคุมไว้ ณ สถานที่อื่นนอกจากสถานที่เก็บตามที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่นำสินค้าควบคุมที่มีไว้เพื่อจำหน่ายออกจำหน่ายหรือเสนอขายตามปกติ หรือปฏิเสธการจำหน่ายหรือประวิงการจำหน่ายหรือการส่งมอบสินค้าควบคุม โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร (ตามมาตรา 30) ซึ่งหากฝ่าฝืนมาตรา 29 และมาตรา 30 จะได้รับโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี ปรับสูงสุด 140,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงและได้รับโทษรุนแรง
นอกจากนี้กรมฯ ได้บังคับใช้กฎหมายชั่งตวงวัดอย่างเคร่งครัดด้วยโดยมีการตรวจสอบเครื่องชั่ง เครื่องตวง เครื่องวัด ที่ใช้ในการซื้อขายสินค้า ให้มีความเที่ยงตรงได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการซื้อขายระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยได้สั่งการให้สำนักงานชั่งตวงวัดทั่วประเทศเข้าไปดำเนินการตรวจสอบเครื่องชั่งในจุดรับซื้อทุกจุด โดยที่ผ่านมากรมการค้าภายในเคยตรวจพบกรณีการดัดแปลงเครื่องชั่งในจุดรับซื้อหลายแห่งในภาคใต้ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรโดยตรง โดยผู้ประกอบการบางรายใช้วิธีการปรับแต่งเครื่องชั่งให้แสดงค่าน้ำหนักต่ำกว่าความเป็นจริง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกร กรมฯ จึงได้มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมย้ำเตือนให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องชั่งที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานชั่งตวงวัด และต้องผ่านการการสอบเทียบตามรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในระบบการซื้อขาย
“ขอฝากถึงผู้ประกอบการรับซื้อสินค้าเกษตร ขอให้มีการรับซื้อที่เป็นธรรมแก่เกษตรกรใช้เครื่องชั่งที่มีความเที่ยงตรง ซึ่งหากมีการพบการฝ่าฝืนกฎหมาย อาทิ การไม่ปิดป้ายแสดงราคา การกักตุน หรือจำหน่ายสินค้าโดยไม่เป็นธรรมหรือมีการดัดแปลงเครื่องชั่ง กรมการค้าภายในจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยทันทีและขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงเกษตรกรหากท่านพบเห็นพฤติกรรมไม่โปร่งใสหรือสงสัยว่าถูกเอาเปรียบ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์ชั่งตวงวัดและสำนักงานสาขาชั่งตวงวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือ [email protected] กรมการค้าภายในจะใช้กลไกตามกฎหมายควบคู่กับการบริหารจัดการเชิงรุกเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาโดยกรมฯ จะเดินหน้าตรวจสอบ เฝ้าระวัง และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินงานด้านราคาสินค้าสำคัญของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขายให้เกิดความเป็นธรรม” นายวิทยากร กล่าว