เมื่อวันเสาร์ที่ 12 เมษายน 2568 ณ กว๊านพะเยาและลานอเนกประสงค์เทศบาลเมืองพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ จังหวัดพะเยา ประจำปี 2568” โดยมีนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง รองอธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนในพื้นที่ เเละพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนนักท่องเที่ยว เข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวภายหลังพิธีเปิดงานว่า…งาน “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ จังหวัดพะเยา ประจำปี 2568” ในวันนี้ กรมประมง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมจัดกิจกรรมด้านการประมง อาทิ กิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่เเหล่งน้ำธรรมชาติ รวม 2 ล้าน 5 หมื่นตัว ประกอบด้วย กุ้งก้ามกราม จำนวน 1,700,000 ตัว ปลาตะเพียน จำนวน 250,000 ตัว และ ปลาจาด 100,000 ตัว กิจกรรมแข่งขันการตกปลาชะโด การแข่งขันประกอบอาหารจากปลาชะโด กิจกรรมรับซื้อลูกปลาชะโดที่มีชีวิต เพื่อลดจำนวนประชากรปลาชะโด เเละนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับปลาชะโด เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักถึงผลกระทบจากการนำพันธุ์ปลาต่างถิ่นบางชนิดมาปล่อยสู่กว๊านพะเยาและแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น ๆ โดยมุ่งหวังให้เทศกาลแห่งความสุขนี้ เป็นพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีทั้งความสนุก อิ่มบุญ อิ่มใจ และถือเป็นโอกาสสำคัญในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับแหล่งน้ำของชุมชน ตามนโยบายของ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยกิจกรรมไฮไลต์ของการจัดงานในครั้งนี้ ได้แก่ “การแข่งขันตกปลาชะโด” เพื่อเป็นการควบคุมประชากรปลาชะโดในกว๊านพะเยา กิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่มอบความสนุกเร้าใจให้กับผู้เข้าร่วมแข่งขัน แต่ยังเป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมายในการควบคุมประชากรปลาชะโด เนื่องจากปลาชะโดเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้จำนวนปลาเล็กในแหล่งน้ำลดลง ด้วยความสามารถในการปรับตัวและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว จึงถือเป็นภัยคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ ที่คุกคามชีวิตปลาเล็กปลาน้อยและสัตว์น้ำท้องถิ่น การควบคุมจำนวนของพวกมันจึงเป็นการช่วยชีวิตปลาเล็กได้อีกนับสิบ ดังนั้น การควบคุมประชากรปลาชะโด จึงเป็นวิธีหนึ่งในการคืนสมดุลให้ระบบนิเวศและช่วยรักษาแหล่งอาหารของชุมชน รวมถึงช่วยสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชน เห็นถึงคุณค่าของการดูแลทรัพยากรสัตว์น้ำในกว๊านพะเยาไว้เป็นแหล่งอาหารของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับกิจกรรมการแข่งขันตกปลาชะโดในครั้งนี้ มีนักกีฬาตกปลาทั่วประเทศเข้าร่วมประลองฝีมือ รวมทั้งสิ้น 265 คน ภายใต้กติกาการจับสัตว์น้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ที่ต้องเคียงคู่กับมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ อาทิ การกำหนดขนาดและความยาวสัตว์น้ำ ผู้แข่งขันจะต้องมีคลิปวิดีโอยืนยันการจับในทุกขั้นตอนมีการกำหนดห้วงเวลาในการจับที่ชัดเจน เพื่อสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมีรายชื่อผู้ชนะการแข่งขันในประเภทต่างๆ ดังนี้
ประเภทเหยื่อสด
ชนะเลิศที่ 1 ได้แก่ ผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 089 นายทวีศักดิ์ วรมิตร จับได้น้ำหนักรวม 5.97 กิโลกรัม ได้เงินรางวัล 50,000 บาท
ชนะเลิศที่ 2 ได้แก่ ผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 147 นายเดช ดวงไชยา จับได้น้ำหนักรวม 4.270 กิโลกรัม ได้เงินรางวัล 40,000 บาท
ชนะเลิศที่ 3 ได้แก่ ผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 062 นายเดช ดวงไชยา จับได้น้ำหนักรวม 4.170 กิโลกรัม ได้เงินรางวัล 30,000 บาท
ประเภทเหยื่อปลอม
ชนะเลิศที่ 1 ได้แก่ ผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 001 นายณัฐวุฒิ ใจชุ่ม จับได้น้ำหนักรวม 7.665 กิโลกรัม ได้เงินรางวัล 50,000 บาท
ชนะเลิศที่ 2 ได้แก่ ผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 053 นายประดิพัทธ์ ทุเรียน จับได้น้ำหนักรวม 5.845 กิโลกรัม ได้เงินรางวัล 40,000 บาท
ชนะเลิศที่ 3 ได้แก่ ผู้เข้าแข่งขันหมายเลข 084 นายศิรา ชาวน่าน จับได้น้ำหนักรวม 2.630 กิโลกรัม ได้เงินรางวัล 30,000 บาท
และสำหรับกิจกรรมการแข่งขันการทำอาหารจากปลาชะโด จำนวน 2 เมนู ได้แก่ ลาบปลาชะโด และต้มยำปลาชะโดชิงเงินรางวัล มีทีมที่เข้าเเข่งรวม 10 ทีม โดยทีมที่ชนะเลิศ ได้แก่ ทีมปกครองตำบลบ้านต๋อม ได้เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร โดยทุกกิจกรรมการแข่งขันได้รับการสนับสนุนเงินรางวัลจากมูลนิธิธรรมนัส พรหมเผ่า