‘พิชัย’ ยันไม่นำเข้าเนื้อหมู-เครื่องในจากสหรัฐฯแลกลดภาษี “ทรัมป์” หวั่นกระทบเกษตรกร

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีการนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐอเมริกา ว่า รัฐบาลจะต้องมีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ โดยในขณะนี้จะยังไม่นำเข้าสินค้าเนื้อหมูและเครื่องใน แต่จะนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง เนื่องจากมีผลกระทบต่อเกษตรกรในประเทศและผู้บริโภค

cover 29 728x485 1

ทั้งนี้ในปัจจุบันหมูในประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลน แต่กลับมีปริมาณเกินความต้องการเล็กน้อย จึงไม่จำเป็นต้องนำเข้าเพิ่ม แต่มีการพิจารณาว่าการนำเข้าหมูอาจทำให้ราคาหมูในประเทศลดลง แม้ต้นทุนการผลิตในประเทศจะแพงกว่า ถ้าเทียบกับการนำเข้า โดยรัฐบาลจะไม่กดราคาสินค้าเกษตรโดยไม่จำเป็น จึงต้องพิจารณาว่าจะสนับสนุนการผลิตในประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น หรือจะนำเข้าหมูเพื่อให้ผู้บริโภคได้ซื้อในราคาที่ถูกลง

“ยกตัวอย่าง ไทยมีคนบริโภค 67 ล้านคน แต่มีผู้ผลิตเพียง 2 ล้านคนเท่านั้น ถ้าการนำเข้าหมูทำให้ราคาคนกินถูกลง แต่ผู้ผลิตได้รับผลกระทบ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศควรดูแลกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเยอะกว่า ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตในเมืองไทยมีปัญหา เขาไม่อยากกดราคาโดยไม่จำเป็น” นายพิชัย กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมกำหนดแนวทางดำเนินนโยบายการค้าระหว่างไทย -สหรัฐฯ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ประกาศว่า รัฐบาลจะไม่นำชิ้นส่วนและเครื่องในหมู อยู่ในรายการสินค้าที่ใช้ต่อรองกับสหรัฐฯ แต่จะนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง หลังพบว่าปริมาณความต้องการใช้สูงกว่าปริมาณผลผลิต

พร้อมย้ำว่า รัฐบาลจะไม่จัดงบประมาณสำหรับอุดหนุนสินค้ารายการใดรายการหนึ่ง เพื่อสร้างแต้มต่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งไม่เร่งประกาศยกเว้นภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ให้เป็น 0% เหมือนเวียดนาม แต่ยอมรับว่า กลยุทธ์ของเวียดนาม ทำให้ไทยต้องบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างระมัดระวังมากขึ้น

ทั้งนี้กระทรวงการคลังยังใช้กลไกในฐานะผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง ผลักดันแผนการจัดซื้อและการลงทุนไปยังสหรัฐฯ เช่น การจัดซื้อเครื่องบินขนาดกลางและขนาดใหญ่ ของบริษัทการบินไทย รวม 45 ลำ การนำเข้าก๊าซธรรมชาติ และอีเทน จากสหรัฐฯ จำนวน 4 แสนตัน ของ ปตท. ตลอดจนโครงการร่วมลงทุนแหล่งก๊าซ ของ ปตท.สผ. การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ป้อนตลาดสหรัฐฯ คาดว่าไทยจะสามารถลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ภายใน 5-7 ปี

นอกจากนี้รัฐบาลจะใช้โอกาสนี้ยกระดับความเข้มข้นในการตรวจสอบและออกเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า สะสางปัญหาผู้ผลิตบางประเทศสวมสิทธิ์ตราเป็นสินค้าไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ตลอดจนการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมให้เข้มข้นขึ้น

ทั้งนี้จะทยอยเชิญผู้แทนจากอุตสาหกรรมพลังงาน และโรงไฟฟ้า เข้าแลกเปลี่ยนความเห็น เพื่อให้ได้ข้อมูลและเงื่อนไขที่ดีที่สุดกับประเทศ และพร้อมจะเดินทางไปสหรัฐฯ โดยเร็วที่สุดหากได้รับกำหนดการยืนยันที่ชัดเจน

นายพิชัย ยังกล่าวว่า ไทยอยู่ระหว่างรอกำหนดยืนยันวันและเวลา พบกับ นายจามิสัน กรีเออร์ ประธานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) หลังได้ประสานงานล่วงหน้า ตั้งแต่เดือน ม.ค.แล้ว

พร้อมยอมรับว่า การเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ อาจยืดเยื้อและต้องเดินทางเยือนสหรัฐฯ อีกหลายครั้งกว่าจะได้ข้อยุติ พร้อมยกกรณีกลุ่มอียู ต้องประชุมเจรจาไปก่อนหน้านี้แล้ว ไม่น้อยกว่า 5 รอบ