นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงกระทู้ถาม เรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาการส่งออกทุเรียนไทย” โดยนางสาวญาณธิชา บัวเผื่อน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี เขตเลือกตั้งที่ 3 พรรคประชาชน โดยนายนภินทร ได้กล่าวถึงมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามและเตรียมมาตรการสำหรับการบริหารจัดการผลผลิตทุเรียนในปี 2568 ที่คาดการณ์ว่าจะมีสูงถึง 1.59 ล้านตัน โดยได้ศึกษาแนวทางต่อเนื่องจากปี 2567 ที่ตน และ นายภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น เดินทางไปเจรจาเพื่อลดข้อจำกัดหน้าด่านที่ประเทศจีน ตลอดจนพูดคุยกับส่วนราชการ ศุลกากรประจำด่าน ศุลกากรประจำมณฑล ตลอดจนผู้ค้า ผู้นำเข้าทุเรียนในประเทศจีน เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองการค้า และอำนวยความสะดวกให้กับการส่งออกทุเรียนของไทยไปยังประเทศจีน
กระทรวงพาณิชย์ได้มีการวางแผนทั้งการเพิ่มการบริโภคในประเทศ และขยายตลาด การแก้ไขปัญหาด้านโลจิสติกส์และการส่งออกไปยังประเทศจีน โดยเมื่อวันที่ 26 – 31 มีนาคม ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกทุเรียนรายใหญ่ ผลผลิตมากกว่า 97% ของไทยส่งออกไปยังประเทศจีน การเดินทางครั้งนี้เพื่อสำรวจ และพูดคุยกับทั้งภาครัฐ และเอกชนของจีน ในการอำนวยความสะดวกการส่งทุเรียนจากประเทศไทย อาทิ การขอขยายเวลาเปิดด่าน การเพิ่มห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อน ตลอดจนการขยายช่องบริการผ่านแดนบกในด่านลาว – จีน ซึ่งจากการเดินทางครั้งนี้มีสัญญาณที่ดี ทั้งในเรื่องความต้องการนำเข้าทุเรียนที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร เสริมด้วยการที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย “Thai Fruit Golden Month” การเชื่อมโยงการค้าและจัดกิจกรรมกับร้านค้าขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นการตลาดในต่างประเทศ ขยายการรับรู้ให้กับทุเรียน และผลไม้ไทยในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน
สำหรับสิ่งที่ผู้ประกอบการเป็นห่วงจากสถานการณ์การนําเข้าทุเรียนจากประเทศไทยสู่ประเทศจีน คือไม่กล้าเซ็นสัญญา เพราะไม่มีความมั่นใจว่าสามารถส่งทุเรียนไปได้ตามกําหนด เนื่องจากมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น คือ ทุเรียนทุกตู้จะต้องมีห้องแล็บตรวจรับรอง ซึ่งห้องแล็บนั้นจะต้องการรับรองจากรัฐบาลจีน ว่าไม่มีสาร BY2 และสารแคดเมียมตกค้าง ซึ่งในอดีตการส่งออกทุเรียนนั้นมีการสุ่มตรวจเพียง 30% สิ่งเหล่านี้ทําให้ผู้ที่ส่งออกไปยังประเทศจีน เกรงว่าเมื่อทุเรียนเราออกมากขึ้น ห้องแล็บประเทศไทย เพียงพอหรือไม่ การติดขัดที่ห้องแล็บของประเทศจีนและด่านที่จีนทําให้รถนั้นติดสะสมใช้เวลารอหน้าด่านเป็นเวลานาน และทุเรียนเมื่อเข้าสู่ตลาดของประเทศจีน คุณภาพทุเรียนจะลดลง ทําให้ราคาตกต่ำและไม่สามารถขายได้ นี่คือปัญหาที่พบจากการเจรจากับประเทศจีน”
การดำเนินการตามมาตรการที่จีนกำหนด ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อสุขอนามัยของประชาชนจีน โดยการเจรจาต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานดังกล่าว ปัจจุบันเจ้าของสวน ล้งต่างๆ ได้ทำการ Big Cleaning ไปแล้วแต่ยังคงพบสาร BY2 อยู่ ล่าสุดผู้ประกอบการได้พบอีก 1 สาเหตุของการปนเปื้อน เกิดจากกล่องที่ใช้บรรจุทุเรียน จึงได้ให้เร่งประสานกรมวิชาการเกษตรเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว และต้องบูรณาการ การทำงานระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับมาตรการรองรับในกรณีทุเรียนล้นตลาด กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการเก็บสต็อกห้องเย็นไว้ 100,000 ตัน ซึ่งไม่ได้เคยเตรียมมากถึงขนาดนี้มาก่อน อีกสิ่งหนึ่งคือเจรจาคือทํายังไงให้มีการตรวจเป็นครั้งเดียว มาตรวจที่ประเทศไทยโดยศุลกากรจีน มาตรวจห้องแล็บในประเทศไทย รับรองมาตรฐานที่ห้องแล็บเมืองไทย และเมื่อรับรองแล้วส่งออกไปผ่านด่านประเทศจีน ไม่ต้องตรวจอีก ซึ่งจีนมีความเห็นด้วยจะหารือกับรัฐบาลกลาง ตนไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจจีน แต่ให้ศุลกากรของจีน หรือ GACC ในฐานะประเทศคู่ค้ามาตรวจ QC ในประเทศไทย “เขาไม่ได้ละเมิดสิทธิของคนไทยแต่อย่างใด แต่เขามาช่วยเราในการตรวจ และส่งออกให้เร็วขึ้น นี่คือสิ่งที่ผมประสานไว้คือแนวทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดแล้ว และรัฐบาลจะพยายามเจรจาในสิ่งเหล่านี้” นายนภินทร กล่าวทิ้งท้าย