“นฤมล” ลั่น ไม่ดีลเสียเปรียบสหรัฐฯ ยันปกป้องผลประโยชน์เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู

488585260 1232022562262650 5953639457645995649 n

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2568 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและตัวแทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคต่างๆ ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ข้อมูลห่วงโซ่การผลิตหมูไทยทั้งระบบ หลังรัฐบาลไทยมีแนวคิดนำเข้าหมูจากสหรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาดุลการค้าและลดแรงกดดันการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทยในอัตรา 37% นั้น ว่า จุดยืนของของกระทรวงฯ คือ การดูแลผลประโยชน์ของเกษตรกร โดยเราได้เสนอแนวคิดและให้ข้อคิดเห็นกับทีมไทยที่จะเดินทางไปเจรจามาตรการการค้ากับประเทศสหรัฐอเมริกา

”เมื่อเราจะไปเจรจาอะไรต้องดูผลประโยชน์คนไทยเป็นหลัก กระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องดูแลผลประโยชน์ของเกษตรกร ดิฉันไม่ต้องการให้เอาภาคเกษตรไปแลกให้ภาคอื่น ๆ เพราะเจ้าของอาจจะไม่ใช่คนไทยด้วยซ้ำ บางทีอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาจเป็นต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิต จึงควรพิจารณาให้รอบคอบ“ศ.ดร.นฤมล กล่าว

รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า กระทรวงเกษตรฯ ไม่ใช่เป็นไปผู้เจรจา จึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงว่า จะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อเกษตรกร เพราะมันจะไม่ใช่กระทบต่อในประเทศ แต่กระทบต่อสินค้าส่งออกด้วย จึงจำเป็นต้องดูให้รอบคอบ โดยข้อมูลที่กระทรวงเกษตรฯได้สะท้อนไป สอดคล้องกับทิศทางที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรออกมาเรียกร้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 09.30 น. ของวันนี้ ( 8 เม.ย.)นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้นำกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและตัวแทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคต่างๆ เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (ฝั่งกพ.) เพื่อให้ข้อมูลห่วงโซ่การผลิตหมูไทยทั้งระบบ หลังรัฐบาลไทยมีแนวคิดนำเข้าหมูจากสหรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาดุลการค้าและลดแรงกดดันการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทยในอัตรา 37%

การยื่นข้อเสนอของสมาคมฯโดยขอให้รัฐบาลละเว้นการพิจารณาที่จะนำเข้าสินค้าสุกร ทั้งเนื้อสุกรและเครื่องในเข้ามายังประเทศไทย ที่จะสร้างปัญหาให้กับผู้เลี้ยงสุกรของไทย หลังจากเผชิญปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในช่วงปี 2563-2565 และปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าสุกร อย่างมากในช่วงปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็น 2 วิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมสุกรไทย 

“สินค้าสุกรของประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมอาหารโปรตีนหลักของประเทศ ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ตั้งแต่รองรับพืชผลทางการเกษตรวัตถุดิบอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์สุกร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างมากมาย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งระบบกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี” นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าว