สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) – ARDA จับมือ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาเทคโนโลยี Plant Factory สกัดสาร Methyl Eugenol ให้เพิ่มสูงขึ้นถึง 115% เพิ่มมูลค่า “กะเพรา” สมุนไพรยอดนิยมในครัวไทยให้กลายเป็นวัตถุดิบชั้นเยี่ยมในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางระดับโลก ปลดล็อกปัญหาปนเปื้อน ต้นทุนสูง และสารสกัดไม่เพียงพอ พร้อมป้อนตลาดเครื่องสำอางกลุ่ม Anti-aging ที่ใช้สารสกัดจากธรรมชาติ ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์มาแรงทั่วโลก
“กะเพรา” เป็นพืชสมุนไพรไทยที่อุดมไปด้วยสารเมทิลยูจีนอล และเทอร์พีนอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฆ่าเชื้อแบคทีเรียเหมาะสำหรับการนำไปเป็นส่วนประกอบยอดนิยมในผลิตภัณฑ์เวชสำอาง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ลดสิว และชะลอวัย อย่างไรก็ตามการสกัดสารจากกะเพราในปัจจุบันยังมีปัญหาคือปริมาณสารสำคัญต่ำทำให้ต้องใช้ใบกะเพราในปริมาณมากทำให้เกิดปัญหาต้นทุนสูง อีกทั้งยังพบการปนเปื้อนสารเคมีและโลหะหนักส่งผลให้การนำกะเพราไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจึงมีขีดจำกัดอย่างเลี่ยงไม่ได้
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องสำอางที่สำคัญของภูมิภาคมีการส่งออกเป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน และอันดับ 18 ของโลก สร้างมูลค่ากว่า 2,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2568 จะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง 9.58% ARDA ได้เล็งเห็นโอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าขยายตลาดสมุนไพรไทยให้กลายเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมความงาม จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อดำเนิน “โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกะเพราระดับอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มปริมาณสาร Methyl Eugenol สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเวชสำอาง” โดยได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาต้นแบบกระบวนการผลิตกะเพราในระบบโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) แบบครบวงจร ที่สามารถสกัดสารเมทิลยูจีนอล และสารในกลุ่มเทอร์พีนอยด์ให้มีปริมาณสูงขึ้น รวมทั้งมีความปลอดภัยสำหรับนำไปต่อยอดใช้ในอุตสาหกรรมเวชสำอางได้อย่างมีประสิทธิภาพช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าถึงวิตถุดิบคุณภาพได้เพิ่มมากขึ้น
“ผลจากโครงการวิจัยนี้ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถผลิต ‘กะเพรา’ ที่มีสารเมทิลยูจีนอลได้เพิ่มขึ้นจาก 546.7 ไมโครกรัม เป็น 1,176.80 ไมโครกรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง เพิ่มขึ้นกว่า 115% โดยพัฒนาระบบการปลูกกะเพราใน Plant Factory ที่สามารถควบคุมปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ ผลผลิตที่ได้จึงปลอดการปนเปื้อนจากสารเคมีและโลหะหนัก มีความปลอดภัย ซึ่งตอบโจทย์อุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่กำลังเน้นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ นี่จึงถือเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของไทยกำลังเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมสมุนไพร “จากพืชเครื่องเทศ สู่พืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต” โดยมี Plant Factory เป็นกุญแจสำคัญ ในการปลูกพืชที่ควบคุมคุณภาพได้อย่างแม่นยำ ไร้สารปนเปื้อน และให้สารออกฤทธิ์สูงขึ้น”
ด้านนางสาวพนิตา ชุติมานุกูล นักวิจัยไบโอเทค สวทช. ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางทีมวิจัยได้นำระบบ ไฮโดรโปนิกส์ใน Plant Factory ซึ่งเป็นระบบปิดที่สามารถควบคุมปัจจัยแวดล้อมได้ทั้งหมด เช่น น้ำ อาหาร แสง อุณหภูมิ และความชื้น มาใช้ในการปลูกกะเพรา โดยศึกษาเทคนิคการกระตุ้นให้กระเพราผลิตสาร Methyl Eugenol ให้มีปริมาณมากขึ้น ผ่านการทดลอง 3 เทคนิคสำคัญ ได้แก่
1. ควบคุมระดับน้ำและสร้างภาวะเครียดทางสภาพแวดล้อม
2. การควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม โดยพบว่าการควบคุมอุณภูมิที่ 18°C ก่อนเก็บเกี่ยว 6 วัน ให้ผลดีที่สุด
3. การใช้สารละลาย Methyl Jasmonate ในการช่วยกระตุ้นการสร้างสารออกฤทธิ์
ผลลัพธ์จากการทดลองพบว่า Methyl Eugenol ในกะเพราที่ปลูกในโรงงานผลิตพืชสูงกว่าปกติถึง 115% ในขณะที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพียง 2-3% เท่านั้น นอกจากนี้ การปลูกแบบควบคุมยังช่วยลดปัญหาสารปนเปื้อนทำให้ได้วัตถุดิบที่สะอาดและปลอดภัยต่ออุตสาหกรรมความงาม เนื่องจากในวงการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางนั้น ความบริสุทธิ์ของวัตถุดิบคือหัวใจสำคัญ เพราะหากพบสารปนเปื้อนแม้เพียงนิดเดียว วัตถุดิบทั้งล็อตต้องถูกทิ้งระบบ “Plant Factory” จึงถือว่าเป็นงานวิจัยที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างถูกที่ถูกเวลาในการช่วยให้ได้สารสกัดเข้มข้นและปลอดภัยกว่า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สมุนไพรไทย หัวหน้าโครงการฯ กล่าว
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวปิดท้ายว่า ปัจจุบันต้นแบบกระบวนการผลิตกะเพราในระบบ Plant Factory ได้รับการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และน่ายินดีว่ามีผู้ประกอบการหลายรายแสดงความสนใจขอใบอนุญาต (License) ที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ต่อยอดกับธุรกิจ ซึ่งเป็นโยบายสำคัญของ ARDA ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบธรรมชาติที่มีคุณภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมความงาม สำหรับผู้ประกอบการหรือเกษตรกรสนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เบอร์โทรศัพท์. 02 579 7435